วันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2557

ศิลปะการแสดงในประเทศอาเซียน

                         ประเทศในแถบเอเชียต่างมีศิลปะการแสดงเป็นเครื่องบ่งบอกความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ศิลปะการแสดงที่โดดเด่นในแถบนี้ได้แก่ ประเทศอินเดีย พม่า ไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น 


การแสดงประเทศอินเดีย



                        อินเดีย อินเดียอยู่ในเอเชียใต้ มีศิลปะการแสดงที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับศาสนาฮินดู มานานตั้งแต่โบราณ จนไม่สามารถแยกจากกันได้ ชาวฮินดูเชื่อว่าเทพเจ้าของตนคือพระศิวะ(อิศวร)เป็นผู้ประทานท่ารำให้จึงมีการสร้างตำราการฟ้อนรำให้ชื่อว่า คัมภีร์นาฏยศาสตร์ผู้เขียนคัมภีร์เล่มนี้คือ ภารตะมุนี .การแสดงออกศิลปะการแสดงของอินเดียมีลักษณะเด่นคือ มีลักษณะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเทพ มีการขับร้องและการบรรเลงประกอบ การแสดงท่าร่ายรำมีการแสดงอารมณ์ออกทางสีหน้าเรียกว่าภาวะ นิยมกระทบเท้าให้สัมพันธ์กับเสียงกลองเรียกว่า “ตาละ” มีการแสดงออกของภาษาท่าทางโดยใช้มือและนิ้ว กล่าวถึงนาม หรือสรรพนามอื่น ๆ การแสดงที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์และเป็นนาฏศิลป์คลาสสิก ได้แก่  


          ภารตะนาฏยัม





                              กถักฬิ





 กถัก 



                               
      มณีปุริ


การแสดงประเทศพม่า




การเชิดหุ่นพม่า
ลีลา ละคร ZAT
                     พม่า  ศิลปะการแสดงของพม่าแต่เดิมได้รับอิทธิพลจากอินเดียจึงมีลีลาท่าทางคล้ายคลึงกับของนาฏศิลป์อินเดีย  ต่อมาเมื่อพม่ารบชนะไทยในสมัยอยุธยาได้กวาดต้อนเชลยไทยไปพม่า อิทธิพลของนาฏศิลป์ไทยจึงมีบทบาท ต่อการแสดงของพม่า พม่าได้นำเอาลีลานาฏศิลป์ไทยผสมผสานกับลีลาแบบอินเดียทำให้รูปแบบการแสดงมีลีลาแบบ “ละครแซท” (ZAT) ในปัจจุบัน การแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ของพม่าคือการเชิดหุ่นสาย หุ่นของพม่ามีเชือกชักเชิดที่โยงส่วนต่าง ๆ ของหุ่นแล้วโยงขึ้นไปรวมกันด้านบนของตัวหุ่น ผู้เชิดทำหน้าที่เชิด ร้อง พากย์ เจรจาประกอบ เชิดให้หุ่นเคลื่อนไหวตามธรรมชาติ และท่าร่ายรำแบบนาฏศิลป์พม่า


การแสดงประเทศกัมพูชา



                   กัมพูชา  กัมพูชาได้รับอิทธิพลจากอินเดียเช่นเดียวกับพม่า ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์จึงได้รับอิทธิพลนาฏศิลป์ไทยไป  แต่เดิมมีลีลาตามแบบไทยทุกอย่างแม้กระทั่งการแต่งกายและเครื่องประดับ ต่อมาในสมัยพระราชินีโกสุม จึงมีการปรับท่าทางให้ต่างออกไป ทำให้มีลีลาอย่างในปัจจุบัน กัมพูชามีการแสดงโขน หนังใหญ่ ซึ่งมีรูปแบบการแสดงที่คล้ายคลึงกับไทย


การแสดงประเทศอินโดนีเซีย




การแสดงพื้นบ้านของอินโดนีเซีย


นาฏศิลป์บาหลี
                  อินโดนีเซีย  ศิลปะการแสดงของอินโดนีเซียมีลีลาแบบอินเดียอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะนาฏศิลป์บาหลี นอกจากลีลาการแสดงที่คล้ายคลึงกับอินเดีย อินโดนีเซียนิยมแสดงการเชิดหุ่นซึ่งเรียกว่า “วายัง” โดยเฉพาะวายังกุลิตที่เชื่อว่าหนังตะลุงทางภาคใต้ของไทยได้รับอิทธิพลมา นาฏศิลป์บาหลีของอินโดนีเซียมีลีลาตลอดจนการแต่งกายที่เร้าใจตามท่วงทำนองและเสียงเครื่องดนตรีซึ่งเรียกว่า “วงกาเมลัน” ทำให้กลายเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของอินโดนีเซีย


การแสดงประเทศเวียดนาม



                      เวียดนาม ศิลปะการแสดงของเวียดนามโดยส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากจีน การแสดงที่เด่นคือการเชิดหุ่นน้ำที่มีกำเนิดในประเทศจีนเวียดนามรับมาและนิยมนำมาเล่นเป็นเวลายาวนานทำให้ปัจจุบันการแสดงหุ่นน้ำกลายเป็นศิลปะการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ของเวียดนาม  การเชิดหุ่นน้ำใช้ผิวน้ำเป็นพื้นเวที หุ่นเคลื่อนไหวตามทำนองดนตรี จังหวะของกลอง ฉาบ และมีการขับร้องเล่าเรื่อง มีการพากย์-เจรจาประกอบการแสดง นิยมแสดงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวเวียดนาม จึงให้ชื่อชุดการแสดงว่า “วิญญาณแห่งท้องทุ่ง” การแสดงสะท้อนความเชื่อ ค่านิยม ขนบประเพณี วัฒนธรรม พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผืนน้ำ การประกอบอาชีพเกษตรกรรม การแสดงหุ่นน้ำจึงเป็นการนำเอาศิลปะการแสดงบอกเล่าวิถีชีวิตของชาวเวียดนามได้ชัดเจน


การแสดงประเทศจีน



                               จีน  ศิลปะการแสดงของจีนที่ชาวจีนนิยมและแสดงสืบทอดต่อกันมานานคือ อุปรากรจีน(งิ้ว) จึงเป็นศิลปะประจำชาติมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยความชื่นชอบทำให้กลุ่มชาวจีนเมื่ออพยพไปอยู่ประเทศใดก็จะมีการนำเอาการแสดงของตนไปด้วย การแสดงอุปรากรจีน(งิ้ว) มีความโดดเด่นของการแสดง คือ
                ๑. มีความไพเราะของท่วงทำนองบทเพลงผ่านการบรรเลงดนตรี
                ๒. บทร้องใช้ถ้อยคำไพเราะมีความงดงามของภาษา และการขับร้อง
                ๓. มีความงดงามของลีลานาฏศิลป์จีนที่เป็นการเคลื่อนไหวในรูปแบบการร่ายรำ
                ๔. การแสดงออกของท่าทาง อารมณ์ความรู้สึกที่งดงามตามเรื่องราวที่แสดง
                ๕. มีการแสดงศิลปะการป้องกันตัว กายกรรมโลดโผนสอดแทรกในเรื่องราว



การแสดงประเทศญี่ปุ่น




ละครโน


ละครคาบูกิ


เคียวเง็น


การแสดงหุ่นบุนราคุ

                       ญี่ปุ่น  ประเทศญี่ปุ่นมีความเป็นเอกลักษณ์ของการแสดง โดยเฉพาะการแสดงที่เป็นเรื่องราว เช่น ละครโน ละครเคียวเง็น ละครคาบูกิ และละครหุ่นบุนราคุ เนื้อหาเรื่องราวมักเกี่ยวข้องกับความเชื่อศาสนา วิญญาณ และโลกีย์โลก การแสดงบาประเภทจึงไม่เหมาะกับเยาวชน อย่างไรก็ตามศิลปะการแสดงของญี่ปุ่น พบว่าแต่ละประเภทเน้นการนำเสนอที่ละเอียดประณีต ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการร่ายรำ การแต่งกาย องค์ประกอบของฉาก เทคนิคต่าง ๆ บนเวที แม้กระทั่งเนื้อหา เรื่องราวที่นำมาแสดงก็เน้นให้เห็นถึงสัจธรรมของชีวิตเพื่อให้ผู้ชมได้แง่คิดจากการ แสดง

สรุป
          ศิลปะการแสดงในแถบเอเชีย เน้นกระบวนการเคลื่อนไหวที่เป็นการร่ายรำ ตามท่วงทำนองเพลงและการขับร้อง จึงต้องมีดนตรี การขับร้องประกอบจึงมีความสมบูรณ์ แต่ละประเทศต่างเคลื่อนไหวตามการสร้างสรรค์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ทำให้ศิลปะการแสดงบ่งบอกความเป็นตัวตนของแต่ละชาติ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น