วันอาทิตย์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2557

ศิลปะการแสดง ๕

                                                                                                      บทละคร
               
เฮอร์เบิร์ต จอร์จ เวลส์ หรือ เอช. จี. เวลส์ (H. G. Wells)
 
นักเขียนนวนิยายแนววิทยาศาสตร์ ชาวอังกฤษ
ที่มา
: http://personal-skyexits.blogspot.com
บทละครเป็นส่วนสำคัญของการแสดงเป็นเรื่องราวที่ขาดไม่ได้ การเขียนบทละครผู้เขียนบทละครอาจเขียนโดยการคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของผู้เขียนบทละครเอง หรืออาจดัดแปลงจากวรรณกรรม/นวนิยายที่มีผู้แต่งไว้แต่เดิม อย่างไรก็ดีในการศึกษาบทละครผู้ศึกษาควรทำความเข้าใจ โครงสร้างของบทละครว่ามีรูปแบบโครงสร้างอย่างไร จะช่วยให้การศึกษาบทละครง่ายขึ้น ทั้งนี้รูปแบบ หรือแบบแผนการเขียนบทละคร แบ่งเป็น  ๓ ส่วน คือ
         
. จุดเริ่มต้นของเรื่อง (BEGINNING) เป็นการเขียนเพื่อเป็นการโยง หรือนำเข้าสู่เรื่องราว หรือเหตุการณ์ที่เป็นสาเหตุของการเกิดเรื่องราว หรือปมปัญหา ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์และเรื่องราวในเรื่องตามลำดับ
          . จุดกลางของเรื่อง (MIDDLE) เป็นช่วงที่มีการสร้างปมปัญหาต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น จึงมีลักษณะของเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่ทำให้เกิดการขัดแย้ง การเผชิญหน้า มีสถานการณ์ที่ทำให้บรรลุถึงความต้องการหรือวัตถุประสงค์ของตัวละคร/เรื่องราว/เหตุการณ์ต่างๆ ที่สร้างความหลากหลายของอุปสรรค การต่อต้านต่างๆ ของตัวละครในเรื่อง และเหตุการณ์
          . จุดจบ (END) เป็นการแสดงให้เห็นถึงการแก้ไขปมปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง จนประสบความสำเร็จ หรือเป็นการทำให้ความต้องการ/วัตถุประสงค์นั้นสิ้นสุดลง หรือสถานการณ์/เหตุการณ์ที่สร้างขึ้นสิ้นสุดลง ทำให้ผู้ชมได้เรียนรู้ หรือได้รับบางสิ่งบางอย่างจากการชมละคร(แนวคิด)

 


วิลเลี่ยม เชคสเปียร์ (William Shakespeare)

นักเขียนบทละครชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วโลก

องค์ประกอบบทละคร

           เมื่อนักเขียนบทละครมีแรงบันดาลใจ มีข้อมูลที่จะนำมาใช้ประกอบการเขียนบทละคร ผสมผสานกับจินตนาการ สิ่งที่นักเขียนบทละครต้องเรียนรู้ก่อนลงมือเขียนคือ องค์ประกอบของบทละคร เพื่อนำมาใช้เป็นหลัก หรือเป็นแนวทางในการเริ่มลงมือเขียนบทละคร องค์ประกอบที่สำคัญคือ
          . หัวข้อเรื่อง (Subject) หรือชื่อเรื่อง เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกที่เกิดจากความรู้สึก ความต้องการของผู้เขียน ว่าต้องการ หรืออยากเขียนเรื่องเกี่ยวกับอะไร อยากเขียนอะไร หรือได้แรงบันดาลใจ แรงจูงใจจากอะไร เช่น อยากเขียนเรื่องเกี่ยวกับความรัก ความยุติธรรม คนจน สัตว์ต่าง ๆ มนุษย์ต่างดาว เทพเจ้า ภูตผีปีศาจ เรื่องราวชีวิตมนุษย์ในสังคม สังคมยุคใหม่ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวที่เรามองเห็นโดยทั่วไป เมื่อเกิดความรู้สึกประทับใจอยากวิเคราะห์หาเหตุผลขึ้นมาว่าทำไม เพราะอะไร การให้หัวข้อเรื่องจึงมักเป็นสิ่งใกล้ตัว หรือเป็นประสบการณ์ตรงที่รับมาด้วยตนเอง เช่น จากคำบอกเล่า จากการอ่าน การฟัง จากบทกลอนที่อ่านมาแล้วประทับใจ บทเพลงที่ฟังแล้วประทับใจ จากหนังสือ หรือจากหนังสือพิมพ์ที่อ่าน หรือจากสิ่งที่มองเห็นรอบตัว ฯลฯ ชื่อเรื่องบทละครควรน่าสนใจ สดุดตา น่าอ่าน ชื่อเรื่องจึงมีความสำคัญทำให้บทละครน่าสนใจเป็นอันดับแรก
          . แก่นของเรื่อง หรือแนวคิดของเรื่อง (Theme) เป็นสิ่งที่ผู้เขียนต้องการแสดงหรือสะท้อนให้ผู้ชมเข้าใจหรือคิดวิเคราะห์ โดยปกติแก่นของเรื่องจะสัมพันธ์กับ subject เพราะเป็นการบอกให้ผู้ชมรู้ว่า ผู้เขียนคิดอะไร อย่างไร หรือต้องการให้ผู้ชมได้อะไรจากการชมละคร  Theme อาจมีมากกว่า ๑ Theme ขณะที่เรื่องดำเนินไปอาจมีการสอดแทรกแนวคิดของเรื่องไว้ ในรูปแบบคำพูดตัวละคร การแสดงพฤติกรรมตัวละคร เหตุการณ์ในเรื่อง ฯลฯ ผู้เขียนต้องเข้าใจสภาพโดยธรรมชาติของผู้ชมว่าการมองTheme ของเรื่องอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับการคิดวิเคราะห์ ความรู้สึก ประสบการณ์ การศึกษา สภาพสังคม ความเป็นอยู่ ค่านิยม ของผู้ชม ที่สำคัญผู้เขียนควรวางหรือกำหนดบทสรุปของเรื่องไว้ว่าผู้ชมควรได้อะไรจากการชมละคร  ดังนั้นการวาง Theme ของเรื่องจึงต้องสัมพันธ์กับแนวการนำเสนอเรื่องด้วย
          . โครงเรื่อง (Plot) เป็นการวางแผนกำหนดเหตุการณ์ต่างๆ ให้เกิดขึ้น จึงต้องมีการลำดับก่อนหลัง เพื่อให้เป็นเหตุเป็นผลของการเกิดเรื่องราว ความต่อเนื่องของเรื่องราว และควรมีความสัมพันธ์กันในแต่ละฉากแต่ละตอน  โครงเรื่องที่ดีจะช่วยให้ผู้ชมเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวละคร แม้ว่าเรื่องราวมีความซับซ้อน โลดโผน ตื่นเต้น มากน้อยอย่างไร ต้องไม่ขัดแย้งกับ Theme ที่วางไว้เพื่อให้ละครมีความเป็นเอกภาพที่สมบูรณ์
          การวางโครงเรื่องที่ดีจะช่วยให้การลำดับเหตุการณ์ ความสัมพันธ์ของตัวละคร การเริ่มต้น การจบเรื่องเป็นไปอย่างเป็นระเบียบ มีจุดที่ทำให้ผู้ชมสนใจติดตามเรื่องราว  ทั้งนี้การคิดโครงเรื่องสามารถคิดไว้โดยย่อ วางตัวละครที่เป็นตัวเอกไว้  และสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้เมื่อเห็นว่าโครงเรื่องไม่ดีควรแก้ไข การวางโครงเรื่องผู้เขียนอาจใช้แนวทางดังนี้
-  การเริ่มต้น เป็นการวางแนวทางการนำเสนอละครว่าบทละครที่เขียนจะนำเสนอแนวใด เช่น โศกนาฏกรรม สุขนาฏกรรม หรือรัก โศกเคล้าสนุก  
-  การวางเรื่องราว ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดในเรื่องว่าเหตุการณ์ใดนำไปสู่เหตุการณ์ใด และเกิดขึ้นอย่างไร จึงทำให้นำไปสู่อีกเหตุการณ์หนึ่งได้
-  การเริ่มเรื่องราว กำหนดเหตุการณ์ที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่อง
-  การกระตุ้น หรือพลิกผันเหตุการณ์ เป็นการสร้างเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเรื่องราว หรือตัวละครในเรื่อง หรือการกระทำของตัวละครว่าจะแสดงการกระทำอย่างไรเมื่ออยู่ในแต่ละเหตุการณ์
-  จุดสูงสุดของเรื่อง เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญของเรื่องราวทั้งหมด
-  จุดจบของเรื่อง เป็นจุดจบ หรือบทสรุปของเรื่องราวทั้งหมด
          การจบเรื่องอาจมีการจบโดยจัดให้มีการย้อนภาพหรือเหตุการณ์ไปยังจุดเริ่มต้นของเรื่องได้ การจบแบบนี้เรียกว่าการจบเรื่องแบบวงกลม แต่ไม่ว่าละครจะจบลงในรูปแบบใด ความสำคัญของการวางโครงเรื่องอยู่ที่ผู้เขียนได้แทรกความคิดความรู้สึกของตนผ่านตัวละคร เพื่อสะท้อนมุมมองของผู้เขียนต่อโลก สังคม และมนุษย์ โดยผ่านตัวละครอย่างไร ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความหลากหลายผู้เขียนอาจนำเอาทฤษฎีมาเป็นแนวทางในการเขียนแต่ไม่จำเป็นต้องยึดอย่างเหนียวแน่น เพราะผู้เขียนบทละครที่ดีควรมีความสร้างสรรค์ และวิสัยทัศน์ที่ดีไม่ยึดติดมากเกินไป


ตัวอย่าง โครงเรื่อง

บทละครเรื่อง แอนธิโกเน 

                แอนธิโกเน เป็นบุตรสาวของกษัตริย์อิดิปุสแห่งเมืองธีป อิดิปุสได้กระทำปิตุฆาตโดยไม่รู้ความจริงเกี่ยวกับชาติกำเนิดของตนเอง เมื่อกระทำปิตุฆาตอิดิปุสได้แต่งงานกับโจคัสตา แม่ของตนโดยไม่รู้ความจริง จนกระทั่งมีบุตรด้วยกันสามคน คือ เอทิโอเคลส โพลินีเคลส และแอนธิโกเนเมื่อรู้ความจริงอิดิปุสจึงไถ่บาปความผิดของตนโดยควักลูกตาตนเองแล้วออกเดินทางเร่ร่อน ส่วนโจคัสตา ก็แขวนคอตาย เมืองธีปจึงตกอยู่ในความดูแลของลูกชายทั้งสอง ที่จะผลัดกันขึ้นครองเมือง โดยมี ครีออน ผู้เป็นพี่ชายของโจคัสตา เป็นที่ปรึกษา ครีออนมีฐานะเป็นลุงของบุตรทั้งสามคนของอิดิปุส ต่อมาได้เกิดสงครามแย่งชิงอำนาจกันระหว่างพี่ชายทั้งสองของแอนธิโกเน ทำให้พี่ชายทั้งสองตายในสงคราม ร่างของเอทิโอเคลสได้รับการฝังตามประเพณีในฐานะอดีตกษัตริย์ แต่ศพของโพลินีเคลสถูกทิ้งไว้ไม่ให้ฝังเพราะเป็นกบฏ ตามคำสั่งของกษัตริย์องค์ใหม่ คือ กษัตริย์ครีออน  คำสั่งของกษัตริย์ครีออนเป็นคำสั่งที่ผิดจารีต ศีลธรรมและวัฒนธรรมประเพณีของเมือง ชาวเมืองมีความเชื่อว่าผู้ใดที่พบศพไม่ได้ฝังให้ทำการฝังศพนั้นทันที เพื่อว่าวิญญาณผู้ตายจะได้ไปสู่สุคติไม่ต้องทนทุกข์ทรมานเป็นวิญญาณเร่ร่อน แอนธิโกเนหาญกล้าฝ่าฝืนคำสั่งกษัตริย์ครีออนทำการฝังศพพี่ชายผู้เป็นที่รัก เธอจึงถูกลงโทษโดยการถูกขังให้ตายทั้งเป็น
                                                     จากบทละครเพื่อสังคมของ Bertolt Brecht

          . ตัวละคร (Characters) การวางโครงเรื่องกับการกำหนดตัวละครเอกในเรื่องมักเกิดขึ้นพร้อมกัน เมื่อมีโครงเรื่องก็ต้องมีตัวละครตามมาเสมอ ควรกำหนดบทบาทบุคลิกลักษณะของตัวละครให้เหมาะกับการดำเนินชีวิตของตัวละคร  จึงต้องกำหนด ชื่อ เพศ อาชีพ วัย การศึกษา ฐานะในสังคม พฤติกรรม ฯลฯ  เพื่อสะท้อนให้ผู้ชมเห็นอุปนิสัยและพฤติกรรมตัวละครได้ชัดเจน  ดังนั้นตัวละครจึงต้องมีความชัดเจนในลักษณะภายนอก เช่น ผิวพรรณ รูปร่าง หน้าตา ฐานะซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ทั่วไปในสังคม  อย่าลืมว่าผู้เขียนบทละครเปรียบเสมือนเป็นผู้เล่าเรื่องราวของมนุษย์เพื่อให้ผู้ชมสนใจสงสัยในชะตาชีวิตของมนุษย์ตนนั้นจนรู้สึกอยากติดตามจนละครจบเรื่อง
                ผู้เขียนบทละครที่ดีต้องมีวามสังเกต วิเคราะห์ วิจารณ์มนุษย์เป็น เพื่อนำมาสร้างเป็นตัวละครในเรื่องราวที่เขียน ทำให้ตัวละครดูเหมือนคนจริงในสังคม มีมิติของคนจริง คือมีทั้งความดี และบกพร่อง (Rounded character) แต่มีเหตุผลในการกระทำของตนเอง ไม่ควรสร้างตัวละครที่ไร้มิติหรือตัวละครแบน (flat character) ที่ไม่มีเหตุผลในการกระทำ ผู้เขียนต้องให้ผู้ชมเข้าใจว่าทำไม หรือเหตุจูงใจอะไรที่ทำให้ตัวละครแสดงออกอย่างนั้น ตัวละครที่สร้างขึ้นมาผู้เขียนต้องรู้จักบุคลิกลักษณะทางกาย ทางใจ และให้เหตุผลการแสดงออกของตัวละครให้สมจริงเช่นเดียวกับคนจริงในสังคม
          . บทสนทนา (Dialogue) สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการเขียนบทละครคือบทสนทนา ควรให้สมจริงเป็นธรรมชาติ แสดงถึงนิสัย ภูมิหลังของตัวละคร บางครั้งการใช้พฤติกรรมตัวละคร อาจช่วยสะท้อนให้ผู้ชมเกิดภาพตามได้ ขณะเดียวกันการเขียนบทเจรจาของตัวละครบางช่วงอาจไม่จำเป็นต้องมีบทพูดยาว บางครั้งการแสดงออกของพฤติกรรมก็สามารถสื่อให้เกิดภาพและจินตนาการได้ชัดเจนเช่นกัน  การเขียนบทสนทนาจึงต้องให้เหมาะสมพอเหมาะพอดีกับเหตุการณ์ ลักษณะนิสัยตัวละคร ความคิด อารมณ์ ชัดเจน มีความหมาย คมคาย เป็นธรรมชาติ เหมาะกับตัวละคร เพื่อให้ตัวละครมีความสมจริงและน่าติดตาม
. บทเพลงประกอบ (Music) การให้มีบทเพลงเข้ามาประกอบ เป็นการช่วยเสริมจินตนาการและอารมณ์ในแต่ละช่วงได้ดี การกำหนดบทเพลงควรสอดคล้องกับบทละคร เรื่องราวเหตุการณ์ อารมณ์ ความรู้สึกตัวละคร บทเพลงช่วยสะท้อนความคิดความรู้สึกตัวละครได้ บางครั้งสามารถแทนการเจรจาได้ ขณะเดียวกันบทเพลงควรสัมพันธ์กับองค์ประกอบอื่นๆ ด้วยเพื่อให้ละครดูสมบูรณ์ และน่าสนใจต่อผู้ชมมากขึ้น

บทละครที่ดีผู้เขียนต้องคำนึงถึงว่าละครที่เขียนขึ้นมานั้นมีจุดประสงค์ที่จะนำเสนอผู้ชมกลุ่มใด และผู้ชมละครนิยมละครแนวไหน ละครที่เขียนขึ้นให้คุณค่าประโยชน์แก่ผู้ชมด้านใด มากน้อยอย่างไร ทั้งนี้เพราะผู้เขียนบทละครต้องสร้างสรรค์เรื่องราวที่ทำให้ผู้ชมละครเห็นสาระสำคัญของเรื่องราว และสามารถนำไปปรับใช้กับตนเองและสังคมได้อย่างเหมาะสม

ประเภทบทละคร
             
อ.แดง ศัลยา สุขะนิวัตต์
นักเขียนบทละครโทรทัศน์ของไทย
  บทละครเมื่อมีจุดประสงค์ในการเขียนเพื่อใช้สร้างสรรค์งานการละคร จึงนิยมเขียนขึ้นให้เหมาะกับละครที่ต้องการสร้างสรรค์ อาจแยกประเภทของบทละครได้ ดังนี้
                บทละครเวที ใช้คำพูดตัวละครเป็นหลักในการสื่อความ หรือเล่าเรื่อง ขณะเดียวกันจะมีคำบรรยายส่วนปลีกย่อยต่าง ๆ ประกอบก่อนมีบทพูดของตัวละครเพื่อให้ผู้แสดงเข้าใจในกิริยาท่าทางและบทบาทของตัวละคร นอกจากนี้ยังมีการบรรยายหรืออธิบายในส่วนของฉาก และเทคนิคแสง สี เสียง เพื่อให้เกิดความเข้าใจในองค์ประกอบของการแสดงให้ชัดเจนมากขึ้น
                
ตัวอย่างบทละครเวที

การอธิบายรวบยอดจะพบได้ในตอนต้นของบทละคร

เรื่อง อุเทนธิราช
บทประพันธ์ของดอกไม้แพร
ตัวละคร (ตัวบท)
๑.     พระเจ้าอุเทน แห่งโกสัมพี (พระเอก)
๒.    พระเจ้าจัณฑปัตโชติ แห่งอุเชนี (กษัตริย์อาวุโสกว่า)
๓.    พระนางวาสุละทัตตา ธิดาพระเจ้าจัณฑปัตโชติ (นางเอก)
๔.    ...........................................................
ฯลฯ
ตัวประกอบ
๑.     นางกำนัลติดตามพระนางวาสุละทัตตา ๒ คน
๒.    เสนานั่งเฝ้าพระเจ้าจัณฑปัตโชติ ข้างละ ๔ คน ทหารยืนโบกพัด ๑ คน
๓.    ..................................................................
ฯลฯ
เครื่องแต่งกาย     แต่งแบบแขก
วิธีเล่น                 เล่นแบบละครพันทาง ใช้ท่ารำไทยอย่างเบาๆ
เครื่องใช้ประกอบฉาก
๑.     ......................................................................
๒.   ..........................................................................
ฯลฯ.
                                                            ที่มา : วิทยาลัยครูสวนสุนันทา. ๒๕๑๒

               
 บทละครเวที
เรื่องแก้วฟ้า

ฉากหนึ่ง
สถานที่                  ริมอ่าว
เวลา                       บ่าย ตะวันคล้อย
ดนตรี เพลงฝั่งโขง
ตัวละคร                เจ้าแก้วราชบุตรเจ้าร่มฟ้าแห่งวังเกรียง นั่งปั้นรูปอยู่ครู่หนึ่ง                               เสียงผู้คนเอะอะหญิงชายกลุ่มหนึ่งเล่นสาดน้ำวิ่งมาทาง                                     นั้นเจ้าฟ้าน้อยธิดาเจ้าเวียงแก้ววิ่งหนีจากกลุ่มคน เปะปะมา                               ชนเอารูปหุ่นแตกกระจาย
เจ้าแก้ว                ว้า.. แล้วกัน หมด หมดกันตรงนี้เอง เสียหมดเลย ว้า.. อะไร                               กันล่ะแม่สาวน้อย (ฟ้าน้อยทำท่าจะหนี เจ้าแก้วดักไว้)                                       จะไปไหน เจ้าทำรูปของข้าแตก เล่นอะไรกัน ไม่ดูไม่แล                                   หมดกันปั้นไว้จวนจะเสร็จอยู่แล้ว เฮ้อ.. กลุ้มจริง ว่ายังไงแม่                             สาวน้อย
ฟ้าน้อย                 ข้าเจ้าไม่เห็น
เจ้าแก้ว                  ฮึ   ตาออกโต มองไม่เห็นได้รึ    ฮือ..หน้าตาสวยๆ ไม่น่าซน                        เลอะเทอะอย่างนี้เลย   เธอมีความผิดรู้ไหม
ฟ้าน้อย                ไม่ผิด
ฯลฯ
                                                          ที่มา : วิทยาลัยครูสวนสุนันทา. ๒๕๑๒ 


          บทละครโทรทัศน์ มีรูปแบบการเขียนเช่นเดียวกับละครเวที แต่มีรายละเอียดการเก็บภาพการแสดงของช่างภาพเขียนประกอบไว้ด้วย ซึ่งลักษณะของบทละครโทรทัศน์จะมีลักษณะเช่นเดียวกับการเขียนบทภาพยนตร์


ตัวอย่างการเขียนโครงเรื่อง และการเขียนบทละครโทรทัศน์
เรื่อง สายใยผูกพัน
                                                                          โดย นัจนันท์ พฤกษ์ไพบูลย์
ละครแนวโศกนาฏกรรม (Tregedy)
Theme  ไม่มีสิ่งใดจะมาสามารถทำลายความรักความผูกพันระหว่างเพื่อนได้
ตัวละคร
ก้อง         เด็กหนุ่มอายุ ๑๘ ปี ผิวขาว บุคลิกท่าทางดี ล่ำสัน ฐานะทางบ้านดี เรียนอาชีวะ เป็นหัวโจกไม่กลัวใคร นิสัยใจร้อนวู่วาม เอาแต่ใจตนและเชื่อมั่นตนเอง รักอิสระ เจ้าทิฐิ มีพ่อที่ไม่สนใจอะไรนอกจากธุระกิจและเมียน้อย จึงทำตัวเกเรเพื่อเรียกร้องความสนใจ ขาดความรักความอบอุ่น ถนัดในการใช้กำลังในการตัดสินจึงเป็นสาเหตุให้เกิดเรื่องราวต่าง ๆ แต่ถ้าได้รักใครสักคนก็จะทุ่มเทให้อย่างสุด ๆ จริง ๆ แล้วเป็นคนแข็งนอกอ่อนใน อยากมีเพื่อนรู้ใจที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขได้ เมื่อมาเจอกับโตจึงเกิดความประทับใจ
โต          เด็กหนุ่มอายุ ๑๘ ปี หน้าตาดี รูปร่างสูงโปร่ง ฐานะทางบ้านค่อนข้างยากจน หลังจากพ่อตายต้องแบกภาระดูแลแม่และน้อง ภายนอกดูเหมือนอ่อนแอแต่ความจริงเป็นคนเข้มแข็งอดทน เรื่องชกต่อยไม่เป็นรองใคร แต่จะใช้เมื่อคราวจำเป็น เป็นคนใจเย็นมีเหตุผล รักความถูกต้อง รักครอบครัวไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค ที่สำคัญรักเพื่อน เชื่อในการทำดี และคิดเสมอว่าชีวิตเป็นสิ่งที่เราลิขิตได้เอง
ป๊อด        ชายหนุ่มอายุ ๓๐ ปี เป็นคนเจนโลก หน้าไหว้หลังหลอก ทำทุกอย่างเพื่อเงิน ไม่มีคุณธรรมจริยธรรม ทำงานผิดกฏหมาย หน้าตาท่าทางน่าเชื่อถือ ดูเป็นผู้ใหญ่ใจดี รูปร่างสันทัด คบทุกคนเพื่อประโยชน์ของตนเอง
แก้ว         หญิงสาวอายุ ๒๐ ปี สวย น่ารัก ขาว มองโลกในแง่ดี การศึกษา ม.๖ อาชีพพนักงานขาย มนุษยสัมพันธ์ดียิ้มแย้มแจ่มใส ชอบช่วยเหลือเพื่อนมนุษญ์ น้ำใจดี เป็นคนรักของก้อง เชื่อมั่นในความรักของก้อง
ติ่ง           ชายหนุ่มอายุ ๒๔ ปี ไม่มีการศึกษา รูปร่างผอมสูงเหมือนคนขี้โรค เป็นเพื่อนก้องตอนอยู่ในสถานพินิจ เป็นเด็กเรร่อนมาก่อน นิสัยชอบอยู่กับเพื่อน รักเพื่อน ไม่ค่อยมั่นใจตัวเองกล้า ๆ กลัว ๆ แต่เป็นผู้ตามที่ดี บางครั้งก็ทำในสิ่งที่คาดคิดไม่ถึง ชอบคิดว่าทุกอย่างเป็นเรื่องง่าย ๆ เป็นคนที่ไม่มีพิษมีภัยกับก้อง แต่มักสร้างปัญหาโดยไม่รู้ตัว
ตัวประกอบอื่น ๆ
ป่าน         เด็กผู้ชายอายุประมาณ ๑๐-๑๒ ปี เป็นเด็กข้างห้องอยู่กับแม่ นิสัยขยันขันแข็งรักดี มีน้ำใจ เป็นผู้ใหญ่เกินตัว รักก้องเหมือนพี่ชายแท้ ๆ ส่วนก้องก็เอ็นดูป่านเหมือนน้องในใส้
พ่อก้อง     นักธุรกิจวัย ๕๐ เศษ ๆ ท่าทางภูมิฐานมีฐานะ นิสัยเอาแต่ใจเจ้าระเบียบ ไม่สนใจใครนอกจากตนเอง
พ่อโต       ตำรวจชั้นประทวนอายุ ๔๐ กว่า ๆ บุคลิกอบอุ่น รักครอบครัว
มาม่าซัง    สาวใหญ่อายุราว ๔๐ ต้น ๆ ท่าทางเจนโลก
อาเฮีย        คนจีนร่างท้วม ๆ อายุ ๕๐ กว่า ๆ ท่าทางใจดี

โครงเรื่อง
                 "ก้อง" เด็กหนุ่มช่างกล หัวโจกประจำโรงเรียน นิสัยกล้าได้กล้าเสีย ใจร้อนวู่วามเอาแต่ใจ ขาดความรักแต่ฐานะทางบ้านดี มีพ่อคนเดียวที่มัวหมกมุ่นกับธุรกิจและเมียน้อย ส่วนแม่หนีไปเพราะทนความเจ้าชู้ของพ่อไม่ไหว  ก้องจึงเป็นคนที่โหยหาความรัก มักแสดงออกด้วยความก้าวร้าวรุนแรงเพื่อเรียกร้องความสนใจ มีแต่แม่นมที่เข้าใจและให้ความรัก รวมทั้งเพื่อนในวัยเด็กที่ก้องสนิทสนมและรักมาก เป็นมิตรภาพที่ไม่สามารถลืมได้ แต่ต้องแยกจากกันโดยไม่ทันได้บอกลา ก้องทำตัวเกเรก่อเรื่องไม่เว้นแต่ละวันทำให้พ่อเอือมระอายื่นคำขาดตัดพ่อลูก ทำให้ก้องยิ่งเกเรมากขึ้นเพื่อประชดพ่อ จนวันหนึ่งก้องถูกตำรวจจับในข้อหาทำร้ายร่างกายทำให้เข้าไปอยู่ในสถานพินิจฯ สร้างความโกรธและอับอายจนพ่อประกาศตัดขาด ถึงแม้ก้องจะอธิบายว่าไม่ได้ทำก็ไม่มีใครเชื่อเพราะก้องอยู่ในเหตุการณ์นั้น ทำให้ก้องรู้สึกเสียใจและพยายามที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน
                 ในสถานพินิจฯ ก้องได้พบกับ "โต" ซึ่งโดนข้อหาลักทรัพย์ เพราะไปเก็บขนมปังที่ทิ้งแล้วในห้างที่ตนทำงานกลับไปให้แม่กับน้องกิน เหตุการณ์นั้นทำให้โตรู้สึกเสียใจและผิดหวังกับสังคมที่ไม่ยุติธรรมกับครอบครัวตน เมื่อทั้งคู่มาเจอกันความที่มีนิสัยแตกต่างทำให้ได้ศึกษากัน ก้องได้เรียนรู้ความมีเหตุผล น้ำใจเอื้ออาทรระหว่างเพื่อน ส่วนโตก็ได้เรียนรู้ที่จะพยายามต่อสู้เพื่อความถูกต้องและกล้าที่จะทำอะไรเพื่อตนเอง ทั้งสองคนประทับใจในกันและกัน หลายครั้งที่ก้องคิดว่าโตคือเพื่อนสมัยเด็กที่ตนอยากเจอแต่ก็จำอะไรไม่ได้มากไปกว่าความสนุกสนานกับล็อกเก็ตดาวเก่า ๆ ที่ยังเก็บไว้  แต่ยังไม่ทันที่ก้องจะรู้เรื่องโต ได้เกิดเหตุการณ์แหกสถานพินิจฯ ก้องกับโตจึงได้โอกาสหนีตามออกมา ก้องสามารถหนีออกไปได้แต่ก็พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนไม่ได้ กลับต้องใช้ชีวิตอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ สุดท้ายก็ต้องทำงานให้กับผู้มีอิทธิพลเพื่อความปลอดภัยของตนเอง ส่วนโตโชคร้ายที่หนีไม่ได้ กลับกลายเป็นผลดีเมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้องทำให้โตเป็นผู้บริสุทธิ์อีกครั้ง และเริ่มต้นชีวิตใหม่สมความตั้งใจโดยสอบเข้าเป็นตำรวจ พฤติกรรมของโตอยู๋ในสายตาของก้องที่ดูอยู่ห่าง ๆ เพราะรู้ว่านับแต่นี้ต่อไปชีวิตของคนทั้งสอง จะขนานกันตลอดกาล
                 วันหนึ่งโตนัดก้องเพื่อบอกเรื่องสำคัญเกี่ยวกับคดีว่าตำรวจจับคนที่ทำร้ายตัวจริงได้แล้วก้องไม่ผิดเป็นผู้บริสุทธิ์ให้ไปมอบตัว แต่ก้องปฏิเสธว่าคงสายไปแล้วเพราะตนได้เลือกทางเดินแล้วไม่อยากให้ใครต้องเดือดร้อน โตพยายามเกลี้ยกล่อม และเล่าเรื่องของตนเองที่ทำให้มีวันนี้ได้ เพราะมีกำลังใจจากพ่อที่ตายไป กับเพื่อนในวัยเด็กที่สัญญากันไว้ ทำให้มีกำลังใจที่จะฝ่าฟันอุปสรรค พร้อมหยิบล็อกเก็ตที่พ่อให้มาให้ก้องดู ก้องรู้สึกดีใจที่ได้เจอเพื่อนรักที่รอคอยมานานแต่เสียใจที่ไม่สามารถบอกได้เพราะกลัวเพื่อนลำบากใจ และเดือดร้อนถ้ามาสนิทสนมกับตนจึงตีตัวออกห่าง  หลังจากนั้นเวลาผ่านไปหลายปีจนโตจบเป็นนายตำรวจที่ซื่อตรงมุ่งมั้่น ตั้งใจทำงานมีอนาคต ก็ได้มีโอกาสเจอก้องอีกครั้ง แต่เป็นการเจอในฐานะตำรวจกับผู้ร้ายซึ่งโตรับไม่ได้ โตรู้ดีว่าใจจริงก้องอยากมีชีวิตที่ดีอยากเป็นเหมือนตน แต่ขาดความรักความเข้าใจจึงก้าวเดินผิดทาง จึงพยายยามอีกครั้ง
                    และครั้งนี้ก้องไม่ทำให้ผิดหวัง ก้องเริ่มต้นชีวิตใหม่พร้อม ๆ กับได้กำลังใจพิเศษจาก "แก้ว"  สาวคนรัก ทำให้ก้องนึกถึงอนาคต แต่เหมือนโชคชะตากลั่นแกล้ง ก้องถูกชักนำจาก "ป๊อด" เข้าไปสู่วงจรค้ายาบ้าโดยไม่รู้ตัว ทำให้โตเข้าใจผิดและพยายามบอกให้ก้องเลิก แต่ก้องปฏิเสธเพราะกลัวแก้วโโนทำร้าย ทำให้โตโกรธเข้าชกต่อย และได้รู็ความจริงว่าก้องคือเพื่อนรัก จึงรู็สึกผิดหวังและเสียใจ  ก้องยังคงทำงานให้ป๊อดจนเห็น "ติ่ง" โดนฆ่าตัดตอน ก่อนตายติ่งขอให้ก้องออกจากวงจรนี้ให้ได้ ก้องได้คิดและตัดสินใจเป็นสายให้โตเพื่อชดเชยความผิดของตน และในวันที่ล่อซื้อยาบ้าของกลาง     ป๊อดมาดักฆ่าแต่ยิงโดฟนโต ก้องกระโดดเข้าช่วยทำให้โดนป๊อดยิงถูกที่สำคัญ ก่อนตายก้องฝากแก้วกับลูกให้โตดูแล โตขอโทษที่เข้าใจผิด ทั้งคู่ปรับความเข้าใจกัน ก้องได้เรียนรู้ถึงความรักความผูกพันของเพื่อน และตายอย่างเข้าใจชีวิต
* ลักษณะโครงเรื่องจะมีลักษณะบทความข้างต้น เมื่อนำมาทำเป็นบทละครให้ดูจากตัวอย่างด้านล่างต่อไปนี้)
                                            บทละครโทรทัศน์
                                             สายใยผูกพัน
ฉากที่ ๑     งานพระราชทานกระบี่  ลานพระบรมรูปทรงม้า กลางวัน
ตัวละคร     ก้อง , ติ่ง ,โต , ตัวประกอบ 
- ภาพที่ลานพระบรมรูป ผู้คนเดินขวักไขว่ถ่ายรูปแสดงความยินดี
- ภาพ Dolly เข้าไปในฝูงชน ใช้ภาพแทนสายตา Pan ไปทั่ว ๆ ค่อย ๆ สอดส่ายหาแล้วไปหยุดอยู่ที่ ว่าที่ ร.ต.ต. หนุ่ม ท่าทางดี หน้าตาคมสัน (โต) กำลังยิ้มแย้มแจ่มใส ท่ามกลางเพื่อน ๆ และญาติ
- ภาพ CU มือก้องที่กำสิ่งของบางอย่างไว้ มีเสียงถอนหายใจเบา ๆ 
- ภาพ Overshoulder เห็นมือหนึ่งเดื้อมมาจับที่บ่าก้อง เจ้าตัวสะดุ้งเล็กน้อย ยังไม่ทันหันกลับมามอง เสียงติ่งดังขึ้น ถ่ายให้เห็นว่า ก้องแอบยืนมองอยู่
ติ่ง              : เฮ้ย! ไอ้ก้อง แหมทำขวัญอ่อนไปได้ มองอะไรอยู่วะ ดูมั่งดิ มีสาวๆ หรือเปล่า
- (ชะโงกหน้ามองตาม เห็นแต่พวกนายร้อย) แม่ง ! เอ้ย.....มีแต่พวกไอ้หัวเกรียน
- (ท่าทางล่อกแล่ก พูดเสียงค่อยลงเพราะมีกลุ่มนายร้อยเดินผ่าน) กูนะบอกตรง ๆ ไม่ถูกชะตากับไอ้พวกเหี้ยนี่เลยพับผ่าซิ... มึงก็เหมือนกัน เสือกนัดมาทำไมวะที่นี่ มีที่ให้เลือกตั้งเยอะแยะ แม่งไม่เลือก
ก้อง             : (สวมแว่นดำ สายตามองตรงที่เดิม เสียงราบเรียบแต่หนักแน่น) มึงจะกลัวพวกมันไปทำไมวะไอ้ติ่ง ยังกับทำผิดอยู่ตลอดเวลา ถ้ามึงไม่ได้ทำอะไร ไอ้พวกนี้มันจะทำอะไรมึงได้
ติ่ง                : (ทำยักไหล่) ก็ไม่แน่ กูว่ามึงรู้ดีกว่ากูนะ (ทำท่าเหมือนไม่น่าพูด มองก้องพูดกลบเกลื่อน) เออ....เออ เลิกพูดก็ได้ มึงนัดเฮียไว้กี่โมง
ก้อง              : บ่าย ๆ (สลัดความคิดทิ้ง ยิ้ม กอดคอติ่งพูดล้อ) ทำตัวดี ๆ ล่ะมึงคนอย่างมึง งานยิ่งหายาก ๆ อยู่
ติ่ง                : (หังเราะ) ว่าแต่กู มึงก็ด้วยแหละ
- ภาพทั้งคู่กอดคอหัวเราะเดินออกไปจากบริเวณงาน ก้องไม่วายหันกลับไปดูนายร้อยคนเดิมแว่บหนึ่ง แล้วหันกลับไปในลักษณะตัดใจอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งก้มลงมองสิ่งของในมือ เห็นเป็นสร้อยมีล็อกเก็ตเป็นสัญลักษณ์ดาว ๘ แฉก สีเงินของตำรวจ รีบล้วงเก็บในกระเป๋ากางเกง
ก้อง              : (พูดพึมพำยิ้ม)  ดีใจด้วยเพื่อน
ติ่ง                : ฮึ! มึงว่าอะไรนะ
ก้อง              : (ยิ้มกับติ่ง) กูก็ดีใจกับงานใหม่ของมึงไงล่ะ ไอ้ติงต๊องเอ้ย...
ติ่ง                : ขอบใจว่ะ .... กูรู้มึงต้องช่วยกูได้
               .......................................................................................
ข้อมูลบรรณานุกรม  : นัจนันท์ พฤกษ์ไพบูลย์ . ละครสามบาท. กรุงเทพฯ :                                           อนิเมทกรุ๊ป. ๒๕๔๖

                การเขียนบทละครโทรทัศน์จะมีรายละเอียดของช่างภาพ และการใช้ศัพท์เทคนิคเฉพาะในการถ่ายภาพ ซึ่งในละครเวทีไม่มีส่วนนี้

                 บทละครวิทยุ เป็นบทละครที่ไม่มีภาพตัวละคร หรือฉากปรากฏอยู่ เป็นเพียงการบรรยาย และคำพูดที่โต้ตอบกันของตัวละคร จึงต้องบรรจุเนื้อหาที่สำคัญลงไปด้วยไม่ว่าเหตุการณ์ บุคลิก การแสดงอารมณ์ความรู้สึกตัวละคร สถานที่ ผู้เขียนจึงต้องเขียนอย่างละเอียด และสามารถดึงความรู้สึกของผู้ฟังให้คล้อยตามเสียงที่ได้ยิน จนสามารถจินตนาการตามได้เหมือนกับได้ดูละครเวที ลักษณะบทของละครวิทยุมี ๓ ลักษณะ คือ

          บทที่ใช้พูดปกติ  ไม่มีการบรรยาย มีลักษณะเหมือนกับบทละครเวที ไม่เขียนบอกสถานที่ เวลา ไว้ เพราะบทพูดจะแสดง หรือบอกคนฟังเอง ข้อสำคัญต้องเลือกเขียนเหตุการณ์ที่เหมาะสำหรับใช้ตอนเริ่มเรื่อง เพื่อดึงความสนใจผู้ฟัง บทวิทยุแบบนี้ดำเนินเรื่องด้วยการพูดตลอด ในระหว่างเหตุการณ์ตอนหนึ่งๆ   มีการบอกเพลง/ดนตรีไว้ในวงเล็บ

ตัวอย่าง
เรื่อง ช่อฟ้า
                                (ดนตรี)  ดัง.....แล้วคลอ
ฟ้า       จิตรกร ตอบได้ไหม ว่าคนที่สวยที่สุดเท่าที่จิตรกรเคยเห็นมานั้น คือใคร
ช่อ       ตอบได้ ปัญหานี้ไม่ยากเย็นอะไรเลย จะตอบให้ตรงๆ ไม่อ้อมค้อม คน               ที่สวยที่สุดเท่าที่จิตรกรเคยเห็นมา คือคนที่ยืนอยู่ตรงหน้านี้
ฯลฯ
                                                  ที่มา : วิทยาลัยครูสวนสุนันทา. ๒๕๑๒.

                 ๒ บทบรรยาย มีลักษณะคล้ายนิทาน มีการเล่าเรื่อง จึงมีการเขียนคำบรรยายที่มีลักษณะเป็นกลาง เล่าไปตามเหตุการณ์ของเรื่องไม่แสดงอารมณ์ หรือใส่ความรู้สึกในเหตุการณ์มากนัก บทละครวิทยุประเภทนี้จึงแต่งง่ายกว่าบทละครชนิดอื่นๆ ผู้เขียนเขียนตามสบายไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะเริ่มเรื่องเหตุการณ์อย่างไร คำพูด ความสัมพันธ์ของตัวละครจะเป็นอย่างไร และสามารถกระชับบทให้รวบรัดได้ 
ตัวอย่าง
เรื่อง สื่อลับ
(ดนตรี)
เสียงฝีเท้าม้า
บรรยาย                 เมื่อเจ้าชายสุวิชชา รัชทายาทแห่งนครจินตประเทศเสด็จกลับจากเที่ยวป่านั้นเป็นเวลาเย็นมากแล้ว ทอดพระเนตรมุ่งไปเบื้องหน้าเห็นลูกเขาระเกะระกะและต้นไม้เขียว ยิ่งเร่งฝีเท้าม้าเร็วยิ่งขึ้นเพราะทรงเกรงว่าจะค่ำลงกลางทาง แต่เมื่อถึงทางแยกแห่งหนึ่ง เจ้าชายก็ประสบเหตุอย่างไม่คาดฝัน ม้าทรงฝีเท้าดีถูกบ่วงคล้องสดุดล้มลง เจ้าชายกระเด็นไปทางหนึ่ง เดชะบุญที่พื้นดินตรงนั้นเป็นที่รกไม่มีโขดหินอยู่เลย เจ้าชายจึงไม่บาดเจ็บแต่งอย่างใด เป็นแต่รู้สึกขัดพระวรกาย ทรงเหลียวพระพักตร์ไปทางม้าทรง ทรงเห็นขาข้างหนึ่งถูกรัดไว้ด้วยเชือกลักษณะบ่วงบาศก์ ในทันใดก็ทอดพระเนตรเห็นบุรุษผู้หนึ่งร่างเล็กใบหน้าคมคายเดินตรงเข้ามา มือถือปลายเชือกบ่วงบาศนั้นไว้ข้างหลัง โดยมีชายอีกผู้หนึ่งตามมา เมื่อทรงรู้แน่ม้าทรงล้มลงเพราะชายผู้นี้เป็นผู้ขว้างบ่วงบาศ ก็ทรงพระพิโรธ พยุงวรกายขึ้นแล้วชี้หน้าตรัสถามด้วยสุรเสียงห้วน
สุวิชชา                   บังอาจอย่างไรจึงทำกับข้าเช่นนี้
บรรยาย                 เจ้าหนุ่มผู้นั้น โค้งให้ด้วยอาการสุภาพ และแทนที่จะตอบ กลับถามไปบ้าง
อาริยา                     พระองค์คือเจ้าชายสุวิชชาใช่ไหมพระเจ้าค่ะ
สุวิชชา                   ข้าเป็นใครก็แล้วแต่ ไม่ใช่เรื่องของเจ้า เวลานี้เจ้ากระทำผิด เจ้าคิดร้ายต่อข้า หัวเจ้าจะหลุดจากบ่า บอกมาว่าเจ้าเป็นใครและทำไมจึงทำกับข้าเช่นนี้ เจ้าประสงค์อะไร
ที่มา : วิทยาลัยครูสวนสุนันทา. ๒๕๑๒.

           บทเล่า มีลักษณะเหมือนบทพูด และบทบรรยายปนกัน ผู้เล่าทำหน้าที่เหมือนคนบรรยาย จึงต้องใส่อารมณ์ความรู้สึกร่วมไปด้วย โดยดูความสำคัญ และบทบาทของผู้เล่าผู้บรรยายว่าเป็นเจ้าของเหตุการณ์ที่เล่านั้นโดยตรงหรือไม่ การใส่อารมณ์ความรู้สึกจึงกระทำอย่างเต็มที่หากเป็นเจ้าของสถานการณ์ ในการเขียนบทแบบนี้ นิยมใช้สรรพนามบุรุษที่ ๑ แทนตัวผู้เล่า เช่น ดิฉัน” “ข้าพเจ้าเป็นต้น 
                                                                      ตัวอย่าง                                                                        
เรื่อง ขายวิญญาณ
(ดนตรี)
พวงพะยอม          ดิฉันชื่อพวงพะยอม ขณะนี้อายุ ๒๘ ปี เป็นคนค่อนข้างจะอาภัพ ดิฉันมีพี่น้องอยู่สี่คนด้วยกัน ล้วนเป็นหญิง และดิฉันเป็นคนที่สาม เรื่องความอาภัพของดิฉันนั้นมีแต่เด็ก เมื่อเติบโตดิฉันต้องพึ่งตัวเอง ดิฉันเป็นคนอับโชค ทั้งๆ ที่มีความรู้อยู่กับตัว แต่ไม่ว่าจะจ่อมทำอะไร เป็นไม่เคยสมหวังสักครั้ง ดิฉันได้รับการดูหมิ่นเหยียดหยามจากเพื่อนๆ แม้กระทั่งพี่น้องของดิฉันเอง จนบางครั้งแทบหมดมานะ แต่ดิฉันก็ได้บากบั่นฟันฝ่าก่อร่างสร้างตัวเรื่อยมา จนในระยะหลังสุด ซึ่งจะเป็นต้นเหตุให้เกิดเรื่องมหัศจรรย์นี้เอง ดิฉันได้ประสบกับความล้มเหลวอย่างตั้งไม่ติด ดิฉันมาค้นหาสาเหตุได้ด้วยตนเองว่า การที่มนุษย์จะดำรงชีพอยู่ในโลกได้อย่างสมบูรณ์พูนสุขและสมปรารถนานั้น ก็ด้วยอิทธิพลของเงินเท่านั้นเงินสามารถบันดาลทุกสิ่ง ดิฉันพยายามดิ้นรนก่อร่างสร้างตัว ด้วยตัวของดิฉันเองเท่าไหร่ๆ ก็ไม่สำเร็จ ไม่มีผีสางเทวดาหรือพระเจ้าองค์ใดบันดาลความปรารถนาให้แก่ดิฉัน เพราะความเจียมตัวที่ไม่มีอะไรทัดเทียมเขา และเพราะความน้อยเนื้อต่ำใจที่เพื่อนฝูงแหนงหน่ายไม่สมใจใยดี ทำให้ดิฉันต้องเหินห่างจากสังคม กลายเป็นคนไม่มีความสำคัญอะไรเลยดิฉันเสียใจ น้อยใจ ในโชควาสนาของตัวเองยิ่ง นานเข้าก็กลายเป็นความเคียดแค้น ตรองเห็นว่าเงินตัวเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ดิฉันสามารถมีทุกสิ่ง ดิฉันอาจมีช่องทางทำมาหากินดีๆ อาจมีชื่อเสียง มีคนนับหน้าถือตา มีความสุขกายสบายใจ พรั่งพร้อมไปด้วยเพื่อนฝูง จะคิดทำอะไรก็ตลอดปลอดโปร่ง สะดวกสมปรารถนาทุกอย่าง เงิน...............ๆ ดิฉันไม่มีเงินจึง ตกอับอย่างนี้ ความคิดของดิฉันฟุ้งซ่านมาก จนกระทั่งวันหนึ่ง ดิฉันได้สนทนากับเพื่อน ซึ่งคำพูดของเพื่อนนี่เอง เป็นแรงดันให้ดิฉันเกิดความปรารถนาอันแรงกล้ายิ่งขึ้น
สุดา          ฉันเห็นด้วยกับเธอนะ พวงพะยอม คนเราน่ะเธอ ต่างมีอุดมคติด้วยกันทั้งนั้นแหละ พูดไงก็พูดได้ เพื่อนฝูงนั่นแหละ คบกันด้วยน้ำใจ ๆ มีไหมละ มีเพื่อนคนไหนแสดงน้ำใจอะไรกับเธอบ้าง มีแต่จะซ้ำส่ง ยิ่งในระยะนี้ด้วยแล้ว ฉันไม่เห็นมีเพื่อนคนไหนสนใจใยดีกับเธอเลย
พวงพะยอม          นั่นสิ สุดา ฉันมองดูแล้วก็สลดใจ ที่เขาคบ ๆ กันอยู่เวลานี้น่ะนะ ก็ล้วนแต่ที่เขาเห็นว่าฐานะพอ ๆ กันทั้งนั้น คนมีชื่อเสียง คนมั่งคั่ง คนหรู คนเด่น นึกแล้วมันน่าน้อยใจ เธอเห็นไหมฉันน่ะดิ้นรนขวนขวายล้มลุกคลุกคลานมาขนาดไหน แต่ก็ตั้งตัวไม่ได้สักที บ้านก็เกิอบเรียกได้ว่าเป็นกระต๊อบ เครื่องใช้ไม้สอยอย่าไปพูดถึงไอ้ของดี ๆ ราคาแพง ๆ เลย พียงพัดลมก็ยังไม่เคยมีใช้ แต่ละคนเขาแข่งกันหรู นั่งรถยี่ห้อดี ๆ เขาก็สมาคมกันได้
ที่มา : วิทยาลัยครูสวนสุนันทา. ๒๕๑๒.

ลักษณะบทละครที่ดี
                ในการเขียนบทละครสิ่งแรกที่ผู้เขียนบทละครจะคำนึงถึงคือเรื่องราวที่เขียนเหมาะสำหรับผู้ชมในเพศใด วัยใด อายุเท่าไร ตลอดจนรสนิยมของผู้ชมว่านิยมละครในแนวใด อย่างไรก็ตามบทละครที่ดีควรมีคุณลักษณะ ดังนี้
                ๑. ควรมีโครงเรื่องและแนวคิดที่ดี น่าสนใจ 
                ๒. การลำดับเหตุการณ์และฉากควรมีความเกี่ยวข้องต่อเนื่องกัน และสัมพันธ์กันตลอดเรื่อง
                ๓. บุคลิกลักษณะของตัวละครแต่ละตัวต้องแสดงออกให้เห็นอย่าง

เด่นชัด มีความเป็นธรรมชาติ และต่อเนื่อง
                ๔. มีการใช้สำนวนโวหารที่ดี แสดงคำพูดที่ชัดเจนเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน เป็นธรมชาติ
                ๕. การสร้างเหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่างในฉากแต่ละฉากชัดเจน 

รวมทั้งมีความชัดเจนในการกำหนดบทพูด ฉาก เทคนิค เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจใน

เหตุการณ์ตัวละคร เวลา สถานที่ของการแสดงได้อย่างถูกต้อง

                                     
ละครสร้างสรรค์ (Creative Drama)

ละครสั้น จากการอบรมละครสร้างสรรค์
หัวข้อวรรณกรรมเยาวชน นำเสนอเรื่อง
แทนคำนำ” 

 
ซึ่งเป็นการทำงานจากกระบวนการกลุ่ม
ของ พระจันทร์เสี้ยวการละคร

ที่มา 
: http://crescentmoontheatre.exteen.com
เป็นละครนอกรูปแบบที่นำเสนอได้ทุกสถานที่ ไม่ให้ความสำคัญกับเวทีที่ใช้แสดง ไม่เน้นปริมาณของผู้ชมว่าต้องมีการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้ชมมาชมการแสดงให้มากที่สุด    สิ่งที่เน้นคือขั้นตอน และกระบวนการในการนำเสนอ ความสำเร็จในการแสดงว่าประสบความสำเร็จตามจุดประสงค์ของการจัดการละครมากน้อยเพียงไรโดยฟังจากการแสดงความคิดเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ชม องค์ประกอบที่เป็นสถานที่ การจัดฉาก องค์ประกอบอื่น ๆ ของละครประเภทนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญมาก จึงมักพบว่า

                ๑. ไม่เน้นสถานที่ แสดงที่ใดก็ได้ เช่น ห้องโล่ง ใต้ต้นไม้ สนามหญ้า ฯลฯ
                ๒. ไม่เน้นองค์ประกอบที่ช่วยเสริม หรือกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดจินตนาการ เช่น การแต่งกาย การแต่งหน้า การจัดฉาก มีการเลือกใช้เท่าที่จำเป็นและเห็นว่าเหมาะสมเท่านั้น
                ๓. ละครจะประสบความสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับขั้นตอนการนำเสนอ การร่วมมือของผู้ร่วมงาน การเตรียมสถานที่ และบรรยากาศสำหรับนักแสดงเพื่อสามารถสร้างสรรค์จินตนาการในการแสดงได้อย่างเหมาะสม
                รูปแบบละครประเภทนี้เกิดจากการแสดงที่ใช้การด้นสด (Improvisation) ที่ไม่พยายามอวดผู้ชมโดยอาศัยองค์ประกอบที่เป็นภาพประทับใจจากองค์ประกอบ เทคนิคต่าง ๆ เข้ามาร่วม จะเน้นการใช้กระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้แสดงออกโดยบทบาทสมมติ เกิดประสบการณ์ รู้จักสำรวจข้อมูลต่าง ๆ เพื่อพัฒนาตนเองในด้านการแสดงออก การสื่อสาร ความคิด ความรู้สึก โดยใช้การแสดงละครเป็นสื่อ ดังนั้น การแสดงละครสร้างสรรค์จึงเริ่มต้นด้วยการใช้ความทรงจำของผู้ร่วมกิจกรรมเพื่อนำไปสู่การสร้างจินตนาการให้เกิดความคิดสร้างสรรค์จนสามารถนำไปสู่การแสดงออกที่เรียกว่าบทบาทสมมติโดยให้อยู่ในสถานการณ์และกติกาที่มีการตกลงร่วมกัน เมื่อต้องใช้จินตนาการร่วมการใช้ปฏิภาณจะทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมนำไปสู่ความเข้าใจในสถานการณ์มากขึ้น และสิ้นสุดกระบวนการประเมินผลจะทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้ทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณตามวัตถุประสงค์ของการจัดละครในแต่ละครั้ง
                ในการเริ่มกิจกรรมละครสร้างสรรค์ควรมีกิจกรรมเป็นขั้นตอน โดยเริ่มจากการเตรียมความพร้อมร่างกายและสมาธิ เช่นการอบอุ่นร่างกาย การเดิน การวิ่ง การเคลื่อนไหวที่เป็นการยืดเส้นสายท่าทางง่าย ๆ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมทางร่างกายและสมาธิผู้ร่วมกิจกรรม จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการตามขั้นตอน คือ
                กระบวนการสร้างความจูงใจ (Motivation) เป็นการกระตุ้นความสนใจของผู้ร่วมกิจกรรม อาจใช้คำถามหรือสื่อ รวมทั้งเครื่องมือต่าง ๆ  ที่เป็นข้อมูลที่จะนำไปสู่การอภิปรายร่วมกัน หรือเรียนรู้ร่วมกัน เช่นการใช้เกม นิทาน บทเพลง วีดีทัศน์ บทกวีนิพนธ์ ภาพถ่าย การใช้การเคลื่อนไหวท่าทาง ฯลฯ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ร่วมกิจกรรมเกิดความต้องการที่จะเรียนรู้ และเกิดแรงจูงใจในการต้องการแสวงหาคำตอบ
                กระบวนการเตรียมทักษะทางการละคร เป็นขั้นตอนการวางแผนการการแสดงละคร หรือบทบาทสมมติ อาจมีการเริ่มต้นตั้งแต่การเตรียมความพร้อมของร่างกาย การทำความเข้าใจในสถานการณ์ที่ต้องการแสดงออก การจัดหาสถานที่แสดง การเลือกผู้แสดง การฝึกซ้อม การกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการ ทั้งนี้เพื่อให้การแสดงละครสามารถนำเสนอได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุตามเป้าหมายหรือจุดประสงค์ที่วางไว้ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการกิจกรรมการแสดงละคร
                กิจกรรมการแสดงละคร ในการจัดกิจกรรมการแสดงละคร การสร้างบรรยากาศในการแสดงเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้ผู้แสดงและผู้ชมเกิดความรู้สึกเป็นกันเอง ผู้แสดงสามารถดำเนินกิจกรรมการแสดงละครได้ตามกระบวนการนำเสนอที่เตรียมมา และผู้ชมสามารถเกิดความรู้สึกสนุกสนานผ่อนคลาย มีส่วนร่วมในกิจกรรม ได้คุณค่าสาระจากการแสดงทั้งผู้แสดงและผู้ชมตามเป้าหมายที่วางไว้
               
ละครสร้างสรรค์ที่ใช้พัฒนาผู้เรียน

                ละครสร้างสรรค์ (Creative Drama) ที่ใช้ในการศึกษา (Drama in Education) จะเน้นกระบวนการเรียนรู้ผ่านการสมมติบทบาท หรือการแสดงละครภายใต้บรรยากาศที่ไม่กดดัน เน้นอิสระในการคิดการแสดงออกของผู้เรียนหรือผู้แสดงให้สามารถแสดงออกถึงจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์โดยการใช้ทักษะด้านการแสดงออกด้วยร่างกายและภาษา ทักษะการคิดวิเคราะห์ ตีความหมาย ตลอดจนทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะการจัดการกับปัญหา เพื่อเรียนรู้ประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิตของมนุษย์ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในประเด็นการเรียนรู้นั้นๆ 

                       ตัวอย่างโครงเรื่องละครสร้างสรรค์สำหรับเด็ก
เรื่อง ว่าวลอยลม

                อากุส กับจายา เป็นเด็กชายเกเรแสนซุกซน ทั้งสองชอบจับหิ้งห้อยมาใส่ขวดไว้ดูเล่น ชอบชนไก่ เวลาเล่นว่าวก็มักแกล้งชักว่าวให้ว่าวตีกันจนสายป่านของว่าวขาด ด้วยนิสัยชอบชุกชนเกเรเป็นประจำทำให้ทั้งสองไม่สนใจการเรียน เป็นเหตุให้ทั้งสองต้องสอบตกซ้ำชั้น กว่าจะรู้สึกตัวก็รู้สึกอับอายที่ตนเองมัวแต่เล่นเกเรไม่สนใจการเรียนทำให้สอบตกต้องเรียนซ้ำชั้นช้ากว่าเพื่อนๆ

เกร็ดความรู้
ว่าวลอยลมเป็นผลงานของ ฮาร์โจโน  วิริโยซูตริสโน ชาวอินโดนีเซีย  เป็นบทละครสำหรับเด็ก เป็นหนึ่งในบทละครที่คัดเลือกมาจาก ๑๔ ประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ได้มีการแปลและรวบรวมไว้จัดทำเป็นหนังสือส่งเสริมการอ่านระดับประถมศึกษา ชื่อ ท่องแดนละคร ซึ่งเป็นหนังสืออันดับที่ ๑๙ ของโครงการร่วมจัดพิมพ์แห่งเอเชียและแปซิฟิก แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษเรื่อง Together in Dramaland โดยนางอรชุมา ยุทธวงศ์ ตรวจทานโดย นางสาวสุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์

ข้อมูลบรรณานุกรม
อรชุมา ยุทธวงศ์. ท่องแดนละคร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๓๒.



1 ความคิดเห็น:

  1. The Casino at Harrah's Hotel and Casino - Mapyro
    Search for The Casino at Harrah's 당진 출장안마 Hotel and Casino in Harrah's Gulf Coast, NV. 김천 출장샵 The casino was 전라북도 출장안마 named "Best Casino Hotel" in the U.S. on 9/10/2021 and is owned by 과천 출장샵 the 사천 출장안마 Seminole

    ตอบลบ