วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ศิลปะการแสดง ๔

องค์ประกอบบุคลากรในการสร้างงานศิลปะการแสดง

                 
                การสร้างงานศิลปะการแสดงทุกประเภท โดยเฉพาะการแสดงที่เป็นเรื่องราวต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้  ความสามารถในด้านงานการแสดงทุกตำแหน่งหน้าที่เข้ามามีบทบาทร่วมกัน จัดเป็นองค์ประกอบหลักที่ขาดไม่ได้ 
                การศึกษาบทบาทหน้าที่ของบุคลากรในงานการแสดงหากศึกษาโดยละเอียดจะมีหลายตำแหน่งหลายฝ่าย   ทั้งนี้ขอกล่าวถึงบุคลากรที่เป็นงานหลักและควรรู้ คือ
                      ผู้อำนวยการแสดง (Producer) เป็นหัวหน้าคณะทำงานในการจัดการแสดงหรือสร้างงานละคร จึงเป็นผู้กำหนดนโยบาย รูปแบบของการแสดง และเรื่องราวที่แสดง แบ่งหรือจัดสรรหน้าที่ของแต่ละฝ่าย ควบคุมดูแลงบประมาณ ตัดสินใจในเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการสร้างหรือผลิตงาน จึงทำหน้าที่ควบคุมการผลิตงานการแสดง และมีฐานะเป็นเจ้าของทุนในการสร้างงาน บางครั้งอาจมีบทบาทหน้าที่ในการกำกับการแสดงร่วมด้วย จะคอยติดตามงาน และแก้ไขปัญหาโดยภาพรวมที่เกี่ยวข้องกับการแสดงทั้งหมด จึงมีฐานะเป็นผู้ริเริ่มในการสร้างงานศิลปะการแสดง
                            

   หม่อมเจ้าชาตรี เฉลิมยุคล เป็นผู้มีบทบาททั้งเป็นผู้อำนวยการสร้างและกำกับการแสดง

                               
                               
         ผู้กำกับการแสดง (Director) ทำหน้าที่กำหนดทิศทางรูปแบบการแสดงคัดเลือกบทละครคัดเลือกผู้แสดง คัดเลือกผู้ร่วมงาน กำหนดการฝึกหัดฝึกซ้อม แก้ปัญหาด้านการแสดง กำกับให้ผู้แสดงแสดงให้ได้อรรถรสตามวัตถุประสงค์ และ                                                     แนวทางที่กำหนดไว้
                                
                 
ผู้กำกับเวที (Stage Manager) มีความสำคัญต่อผู้กำกับการแสดงในระหว่างฝึกซ้อม เป็นผู้ช่วยเหลือ จดบันทึกการเปลี่ยนแปลง และรายละเอียด ต่าง ๆ ในการฝึกซ้อมการแสดง รับผิดชอบหลายด้าน เช่น กำหนดการฝึกซ้อม ให้ดำเนินไปอย่างราบรื่นร่วมกับผู้กำกับการแสดง ถ่ายทอดความต้องการของผู้กำกับการแสดงให้           ผู้เกี่ยวข้องการแสดงทุกฝ่าย เช่น นักออกแบบเสื้อผ้า การแต่งหน้า ฉาก เวที ฯลฯ ประสานงานกับลูกทีมบนเวทีที่รับผิดชอบงานทุกด้าน กำหนด จัดคิวการแสดงให้นักแสดงในการเข้าฉาก ตรวจตราความเรียบร้อยทั้งในระหว่างฝึกซ้อม และแสดงจริง ทั้งบนเวที นักแสดง ฉาก ฯลฯ
                                 ผู้เขียนบท (Screenwriter)  ทำหน้าที่สร้างบทละคร (Script) โดยถ่ายทอดเรื่องราว ผ่านคำพูด และท่าทาง การแสดงออกของตัวละคร ต้องเป็นผู้มีจินตนาการกว้างไกล มีทักษะในการฟังการสังเกต มีพรสวรรค์ในการเล่าเรื่องที่ประทับใจ อาจทำงานเดี่ยว หรือมีการทำงานร่วมกันกับผู้เกี่ยวข้องหลายคนได้
                                            
                    นักแสดง (Actor)  ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ สู่ผู้ชม ต้องศึกษาบทละครให้เข้าใจในเรื่องราว บทบาทบุคลิกภาพ และพฤติกรรมของตัวละคร ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครในเรื่อง จดจำบทได้แม่นยำ มีความตั้งใจในการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ มีความอดทนในการฝึกซ้อม และการแสดง
                              

  ฝ่ายฉาก (Art Director, Property Master) ทำหน้าที่ออกแบบฉาก อุปกรณ์ประกอบฉาก ที่อยู่รอบผู้แสดงบนเวที สร้างสิ่งแวดล้อมบนเวทีให้เหมาะสม จึงต้องเป็นผู้แนะนำรูปแบบของผลงานทั้งหมดที่ออกแบบ เสนอแนวคิด และสร้างสรรค์อารมณ์ และบรรยากาศของเหตุการณ์ ที่เกี่ยวกับฉาก เพื่อให้ภาพบนเวทีมีความเหมาะสม และสมจริงมากขึ้น
                               


 ฝ่ายเครื่องแต่งกาย (Costume & Make up) ออกแบบเครื่องแต่งกาย สร้างสรรค์เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ให้เหมาะสมกับอายุ ฐานะ ตัวละคร ยุคสมัยของเรื่องราว  จึงต้องศึกษาเรื่องราวเหตุการณ์ บุคลิกลักษณะ อุปนิสัย เพศ สถานภาพ อายุ ของตัวละครทุกตัว ยุคสมัยในเรื่องราวที่แสดง ทั้งนี้เครื่องแต่งกาย จะช่วยให้การแสดงมีความสมบูรณ์มากขึ้น ช่วยเสริมอารมณ์ และรูปแบบของผลงานให้สมจริง จำแนกความแตกต่างระหว่างตัวเอกกับตัวรอง ชี้แนะให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร เปลี่ยนภาพลักษณ์ของตัวละคร เปลี่ยนพัฒนาการ อายุของตัวละคร
                              

                                 ฝ่ายเทคนิค (Light and Sound Engineer) ประกอบด้วยผู้ออกแบบแสง สี เสียง บนเวที เพื่อช่วยสร้างอารมณ์ สีสัน บรรยากาศบนเวทีให้สมจริงมากขึ้น จึงต้องทำความศึกษาเข้าใจและมีบทบาท ดังนี้ ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับฉาก สถานที่ เหตุการณ์ในเรื่องให้เข้าใจ ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเวลาที่ปรากฏในเรื่อง และช่วงเวลาในการเปลี่ยนฉากแต่ละฉาก  ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิสัมพันธ์ของตัวละคร ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการในการดำเนินเรื่อง ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอารมณ์ของตัวละคร และอารมณ์ของฉาก แต่ละฉาก เพื่อทำการออแบบเทคนิคแสง สี เสียง ให้เหมาะสม
                                


ฝ่ายดนตรี (Music)ในฝ่ายดนตรีต้องประกอบด้วย หัวหน้าวง ผู้จัดการวง นักดนตรี       นักแต่งเพลง นักร้อง ดนตรีช่วยเสริมอารมณ์ พฤติกรรมตัวละคร เหตุการณ์ในเรื่อง ทำให้ผู้ชมรู้สึกคล้อยตามไปกับภาพ เรื่องราวบนเวทีมากยิ่งขึ้น
                การสร้างศิลปะการแสดงต้องอาศัยบุคลากรทุกฝ่ายจึงจะทำให้ศิลปะการแสดงมีความสมบูรณ์ให้คุณค่าต่อผู้ชมได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะงานศิลปะการแสดงประเภทเป็นเรื่องราว ดังนั้นบุคลากรทุกฝ่ายทุกตำแหน่งหน้าที่จึงถือว่ามีความสำคัญทุกฝ่ายทุกตำแหน่งเช่นกัน

ความสัมพันธ์ของงานศิลปะสาขาต่าง ๆ กับงานศิลปะการแสดง
                    งานศิลปะทุกแขนงล้วนเอื้ออำนวยประโยชน์ซึ่งกัน และกัน และทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น เช่น ถ้าฟังดนตรีโดยมี นาฏศิลป์ วรรณกรรม จิตรกรรม ประกอบกันจะช่วยให้เข้าใจ ซาบซึ้งในงานดนตรีมากขึ้น ในทำนองเดียวกันเมื่อชมการแสดงโดยมีดนตรี มีฉากประกอบ มีวรรณกรรมเข้าร่วม ก็จะทำให้เข้าใจและซาบซึ้งในการแสดงนั้นเช่นเดียวกัน ปัจจุบันพบว่าการสร้างงานศิลปะทั้งประเภทวิจิตรศิลป์และประเภทประยุกต์ศิลป์ อาจมีงานศิลปะเข้าร่วมกันหลายสาขา แล้วนำเสนอออกมาเป็นงานศิลปะ ๑ ชิ้นได้ เช่น การสร้างสื่อโฆษณา ๑ ชิ้น พบว่ามีการผสมผสานงานวรรณกรรม การแสดง ดนตรี ฯลฯ เข้าร่วมด้วยเมื่อนำเสนองานนั้นออกมาจึงทำให้เกิดความสมบูรณ์ของข้อมูลที่ต้องการประชาสัมพันธ์นั้นมากขึ้น และได้รับความสนใจจากผู้บริโภค และสังคมมากขึ้นเช่นกัน
                                  ตัวอย่างงานนิเทศศิลป์ ซึ่งเป็นงานประเภทประยุกต์ศิลป์ 
                   สร้างสรรค์งานโดยนำเอางานศิลปะทุกสาขามาประกอบกันออกมาเป็นชิ้นงาน
                                               สาขานิเทศศิลป์ ประเภทประยุกต์ศิลป์


หลักการสร้างงานศิลปะการแสดง

       การสร้างงานศิลปะการแสดง ผู้สร้างงานต้องมีความเข้าใจในองค์ประกอบของการแสดง เพื่อให้การแสดงที่สร้างสรรค์มีความงดงามในแง่ความเป็นศิลปะอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นในการสร้างงานศิลปะประเภทนี้ จึงต้องคำนึงถึงขั้นตอนที่เป็นพื้นฐานในการสร้างงาน ดังนี้

        แนวคิด หรือเนื้อหาการแสดง เป็นสิ่งที่ผู้สร้างงานต้องการนำเสนอเพื่อให้ผู้ชมได้สาระ หรือแง่คิดจากการแสดง ซึ่งแนวคิด หรือการสร้างเนื้อหา มักได้จากแรงบันดาลใจของผู้สร้างงาน และมีจุดมุ่งหมายที่จะแสดงแนวคิด หรือแรงบันดาลใจนั้นออกมาในรูปแบบการแสดง

        นักแสดง นักแสดงจะทำหน้าที่เป็นผู้นำเสนองานการแสดงที่มีการสร้างสรรค์ จำนวนนักแสดงจึงขึ้นอยู่กับผู้สร้างงานจะเป็นผู้พิจารณา ให้เหมาะสมกับผลงานที่สร้างสรรค์
        
        ดนตรี และการขับร้อง เป็นองค์ประกอบที่ช่วยเสริมให้การแสดงมีความสมบูรณ์ในแง่ความงามของเสียงที่ผู้ชมเกิดความรู้สึกคล้อยตามภาพการเคลื่อนไหวที่มีเสียงดนตรี และเสียงขับร้องประกอบทำให้เสริมจินตนาร่วมของผู้ชมที่มีต่อการแสดงมากขึ้น

        เครื่องแต่งกาย เป็นองค์ประกอบที่ทำให้การแสดงมีความงดงามประทับใจแก่ผู้ชม และคล้อยตามภาพบนเวที การออกแบบเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับหากออกแบบได้งดงามเหมาะสมกับงานที่สร้างสรรค์จะทำให้การแสดงนั้นมีความงดงามประทับใจผู้ชม ยิ่งขึ้น

       ในหลักของการประดิษฐ์สร้างสรรค์ศิลปะการแสดง นอกจากองค์ประกอบที่ทำให้เกิดการแสดง หากขาดความงดงามในแง่ความเป็นศิลปะ การแสดงนั้นก็ไม่อาจสร้างความชื่นชม ประทับใจ ผู้ชมได้ ดังนั้นการสร้างงานจึงต้องมีความเข้าใจในความเป็นศิลปะทางการเคลื่อนไหว จึงควรยึดหลักการประดิษฐ์สร้างสรรค์ ดังนี้

       ๑. การประดิษฐ์สร้างงานการแสดงต้องคำนึงถึงจังหวะ เวลาในการเคลื่อนไหว การแสดงออก การนำเสนอ การแสดงอารมณ์ และการแสดงคำพูด ให้มีการแสดงออกที่เป็นระบบระเบียบ 

       ๒. การเคลื่อนไหว และจำนวนผู้แสดง รวมทั้งองค์ประกอบการแสดงอื่น ๆ เช่น ฉากและอุปกรณ์ประกอบฉาก การวางตำแหน่งต่าง ๆ บนเวที ควรมีการใช้พื้นที่อย่างเหมาะสม เพื่อให้ภาพบนเวทีมีความเป็นเอกภาพ

       ๓. ต้องมีความเข้าใจในการประดิษฐ์ท่าทางการเคลื่อนไหว และการสร้างรูปทรงให้เกิดความงาม ประดิษฐ์ท่าทางให้เหมาะกับบทเพลง เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย แนวคิด เรื่องราว ที่นำเสนอ เพราะท่าทางจะเป็นสื่อ ที่ทำให้ผู้ชมเข้าใจในสารที่การแสดงนำเสนอ 

       ๔. การแสดงจะต้องมีคุณค่าในการสร้างสรรค์แสดงออก ให้ผู้ชมได้เข้าใจ การแสดงจึงเป็นเครื่องมือสื่อสารอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ชมได้รับคุณค่าจากการชมการแสดงทั้งด้านความบันเทิง สาระ การแสดงที่ดีมีคุณค่าจะสามารถสื่อสัมพันธ์กับผู้ชมให้เข้าใจ กระตุ้นให้เกิดการคิดวิเคราะห์ การมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ทั้งด้านดี และด้านลบ เกิดแนวคิดในแง่การอนุรักษ์ สืบทอด เผยแพร่ได้อย่างเหมาะสม 





                   ตัวอย่างงานการแสดงที่ยึดตามหลักการสร้างงานศิลปะการแสดง
            ทำให้ภาพการแสดงมีความงดงามสมบูรณ์ตามหลักความงามทางสุนทรียะ
                                 ขอบคุณคลิปตัวอย่างจาก http://kaliandrews.com
     
ความสำคัญศิลปะการแสดง

        ศิลปะการแสดงเป็นงานศิลปะที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับมนุษย์ และสังคมมาเป็นเวลายาวนาน เป็นเครื่องมือที่ถูกสร้างขึ้นในรูปแบบงานศิลปะทางการเคลื่อนไหว เข้ามาเกี่ยวข้องกับมนุษย์และสังคมในเรื่องความบันเทิง ความเชื่อ วัฒนธรรม  ประเพณี มาโดยตลอด หากมองความสำคัญของการแสดงที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์และสังคม จะพบว่าการแสดงมีความสำคัญทั้งโดยส่วนตัว และส่วนรวม ดังนี้

       ๑. ศิลปะการแสดงสร้างความเป็นเอกลักษณ์ตัวตน และเอกลักษณ์ความเป็นชาติ กลุ่มชน สังคม เป็นเครื่องบ่งบอกและชี้ให้เห็นถึงความโดดเด่นในด้านต่าง ๆ ของสังคม ความเชื่อ ค่านิยม วิถีชีวิต ของสังคมแต่ละกลุ่มได้อย่างชัดเจน ดังนั้นไม่ว่าสังคมใด ยุคใด สมัยใด การแสดงจะเป็นเครื่องบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ของเจ้าของ หรือผู้สร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี 

       ๒. ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นเจ้าของงานศิลปะ มีความภาคภูมิใจ ที่มีส่วนได้ทำหน้าที่อนุรักษ์ สืบทอด เผยแพร่ ไม่ว่าจะโดยวิธีใด ทั้งทางตรง และทางอ้อม หากงานศิลปะนั้นมีคุณค่าความงามทางสุนทรียศาสตร์ เป็นที่ยอมรับ ยกย่อง จะทำให้ผู้เกี่ยวข้องผู้เป็นเจ้าของงานมีความรู้สึกภาคภูมิใจทั้งในสังคมส่วนรวม และในความรู้สึกส่วนตัว เมื่อศิลปะ

       ๓. บุคคลใดก็ตาม หากมองเห็นคุณค่างานศิลปะไม่ว่าสาขาใด เกิดความสนใจเข้าไปมีส่วนร้วมในกิจกรรม มีประสบการณ์ ตามรสนิยม สิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานในการปลุกให้เกิดการคิด การจินตนาการ การสร้างสรรค์งานศิลปะนั้น ๆ ได้อย่างเหมาะสม หากชิ้นงานนั้นเต็มไปด้วยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเหมาะสม ผลงานที่สร้างสรรค์ย่อมเป็นที่ยอมรับ เชื่อถือ งานศิลปะการแสดงก็เช่นเดียวกัน รสนิยม และปรัะสบการณ์จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ชิ้นงานที่สร้างมีความเหมาะสม และเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์งานศิลปะการแสดงได้เป็นอย่างดียิ่ง

       ๔. จุดประสงค์การสร้างศิลปะการแสดงผู้สร้างงานไม่ได้มุ่งหวังเพียงให้เป็นความบันเทิงสำหรับผู้ชม แต่มุ่งหวังสาระต่าง ๆ ที่สอดแทรกไว้ในรูปแบบที่แสดงอกมาภาพนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ความเข้าใจ ที่ถูกต้องเหมาะสม คุณธรรมจริยธรรมที่ดีงามตลอดจนแนวคิดอื่น ๆ ที่มีคุณค่าต่อมนุษย์ และสังคม ให้แก่ผู้ชม ดังนั้นสาระ และความบันเทิงดังกล่าวจึงขึ้นอยู่กับผู้ชมการแสดง ว่ามีการคิดวิเคราะห์สิ่งที่รับชม ได้ดีและมากน้อยอย่างไร คุณค่าในด้านนี้จึงเป็นคุณค่าที่มีผลต่อการขัดเกลาความคิดและจิตใจผู้ชมให้ผ่องใสอันก่อให้เกิดความสุขแก่ผู้สัมผัสงานการแสดงนั้น ๆ  






  ภาพยนตร์เรื่องโหมโรง เป็นตัวอย่างที่ดีของงานศิลปะการแสดง

     ที่ผู้สร้างมุ่งเน้นให้คุณค่าความสำคัญด้านความบันเทิง สาระ 

      การขัดเกลาคุณธรรมจริยธรรมแก่ผู้ชม เป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยม

       อีกชิ้นหนึ่งสำหรับงานศิลปะการแสดง ที่ให้คุณค่าแก่ผู้ชม

                 (ขอบคุณเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เรื่องนี้)

คลิกเข้าไปทำกิจกรรมในลิ้งค์ด้านล่าง

https://docs.google.com/forms/d/1ILLBS-6CKPiygoH6vPXvLhs_aUnbca_EZAAIJ6Pwehg/edit?edit_requested=true&pli=1







ศิลปะการแสดง ๓

ประเภทศิลปะการแสดง

               โดยทั่วไปนิยมแบ่งการนำเสนองานศิลปะการแสดงออกเป็น ๒ ประเภท คือ

๑.     การแสดงที่ไม่เป็นเรื่องราว 
        ใช้เวลาในการนำเสนอน้อย ความซับซ้อนในการสร้างสรรค์
จึงมีน้อย สามารถใช้ผู้แสดงจำนวนน้อยถึงมากได้ อาจเพียงหนึ่งคน สองคน หรือมากกว่าสองคน ทั้งนี้ต้องให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่นำเสนอ นิยมแสดงให้เห็นความงามของการเคลื่อนไหว การแปรรูปแบบกระบวนแถวบนเวที การแสดงเข้าใจง่าย มีการบรรเลงดนตรีการขับร้องประกอบ หรือมีเพียงการบรรเลงดนตรีประกอบการแสดงโดยไม่มีการขับร้องประกอบก็ได้ การแสดงประเภทนี้ของไทยได้แก่ ระบำ รำ ฟ้อน เซิ้ง ตาลี ของตะวันตกได้แก่การแสดงบัลเล่ย์ประกอบเพลง ระบำพื้นบ้านของประเทศต่างๆ เป็นต้น




ระบำฉิ่งธิเบต เป็นผลงานสร้างสรรค์ของครูลมุล ยมะคุปต์ 
เนื่องจากผู้แสดงใช้ฉิ่งธิเบตเป็นอุปกรณ์ประกอบการแสดง และ
ผู้แสดงแต่งกายแบบสตรีชาวธิเบต
จึงเรียกการแสดงชุดนี้ว่า ระบำฉิ่งธิเบต




การแสดงที่ไม่เรื่องราวของตะวันตก

                
              ๒. การแสดงที่เป็นเรื่องราว 
              เป็นการแสดงที่ใช้เวลาในการนำเสนอ มีการแสดงให้เห็นเหตุการณ์ บทบาทพฤติกรรม คำพูดตัวละครโดยผ่านการแสดงของนักแสดง มีความซับซ้อนขององค์ประกอบต่าง ๆในการสร้างสรรค์

บทที่ ๑ ศิลปะการแสดง ๒

การนำเสนองานศิลปะการแสดง

                การนำเสนองานนาฏศิลป์ หรือศิลปะการแสดงผู้สร้างงานอาจมีการนำเสนองานได้ ๒ ลักษณะ ดังนี้

๑.     ศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิม(Classic) นิยมแสดงตามรูปแบบที่มีการนำเสนอมานาน จึงสะท้อนความเป็น
เอกลักษณ์ของแต่ละชาติไม่ว่าจะเป็นลักษณะการเคลื่อนไหว การแต่งกาย ดนตรีและวิธีการนำเสนอ


                                    
 โขนเรื่องรามเกียรติ์ชุดศึกมัยราพณ์ โดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ การแสดงแบบดั้งเดิมไทย

                                                       

บทที่ ๑ ศิลปะการแสดง

                ศิลปะการแสดงเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าอย่างเป็นระบบระเบียบเพื่อให้เกิดความงดงามในการเคลื่อนไหว เป็นศิลปะที่เกิดจากการสร้างความสมดุลของร่างกายในขณะเคลื่อนไหวให้มีความงาม ประณีต โดยมีจุดประสงค์ให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจในความงามของการเคลื่อนไหวนั้น
                ศิลปะการแสดงในความหมายของไทย คือ “นาฏศิลป์” เกิดจากการสมาสคำสองคำคือ นาฏะ กับ ศิลปะ

       “นาฏะ” หมายถึงการร่ายรำ หรือการเคลื่อนไหวไปมาอย่างงดงาม ประณีต ละเอียดอ่อน

        “ศิลปะ” หมายถึง
         ๑.     การแสดงออกเพื่อสนองความต้องการทางอารมณ์ของผู้สร้างงานให้ผู้ชมได้รับรู้และเข้าใจในงานที่ตนเองสร้าง
         ๒.    การถ่ายทอดความหมายต่าง ๆ ออกมาในรูปแบบงานที่สร้างสรรค์โดยผู้สร้างงานใช้จินตนาการเพื่อแสดงให้เห็นคุณค่าแห่งความงามในรูปแบบต่าง ๆ
         ๓.    การที่ศิลปินพบเห็นความงาม เกิดความประทับใจ ชื่นชม จึงเลียนแบบนำมาดัดแปลงประดิษฐ์ให้มีความละเอียดอ่อน วิจิตรบรรจง ทำให้ผูชมเกิดความซาบซึ้ง ประทับใจในชิ้นงานที่สร้างขึ้นมา
                
                 นาฏศิลป์  จึงหมายถึง  การฟ้อนรำที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นจากท่าทาง และอารมณ์ที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์มุ่งเน้นให้เกิดความประณีตงดงามลึกซึ้ง เพียบพร้อมไปด้วยความวิจิตรบรรจง  ละเอียดอ่อน  ทั้งนี้นอกจากหมายถึงศิลปะการฟ้อนรำ ระบำ รำ เต้น แล้ว ยังหมายถึงการนำเอาการขับร้องและการบรรเลงร่วมด้วย


รำคู่ฉุยฉายกิ่งไม้เงินทองเดิมใช้เป็นการแสดงเบิกโรงโขน และละครใน

 มูลเหตุการณ์เกิดนาฏศิลป์/ศิลปะการแสดง

          นาฏศิลป์ เป็นศิลปะแห่งการร่ายรำ เป็นรูปแบบของงานศิลปะสาขาหนึ่งในประเภทวิจิตรศิลป์ มูลเหตุของการเกิดงานศิลปะประเภทนี้จึงเกิดจากมูลเหตุเดียวกัน เพียงแต่การนำเสนองานศิลปะอาจมีลักษณะที่แตกต่างกันไป ทำให้เกิดงานศิลปะสาขาต่าง ๆ ขึ้น โดยเฉพาะในประเภทวิจิตรศิลป์ จัดเป็นงานศิลปะที่มุ่งเน้นประโยชน์ทางด้านจิตใจของผู้สัมผัสงานเป็นสำคัญ ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงมูลเหตุของการเกิดนาฏศิลป์หรือศิลปะการแสดงจึงสันนิษฐานว่ามีมูลเหตุที่เกิด คือ
      



         ๑. เกิดจากธรรมชาติ มนุษย์มีการเคลื่อนไหวอิริยาบถต่างๆ เช่น แขน ขา เอว ใบหน้า ฯลฯ จากการเคลื่อนไหวนี้เองที่เป็นมูลฐานแห่งการฟ้อนรำ หรือการที่มนุษย์แสดงอารมณ์ออกมาตามความรู้สึกในใจแล้วแสดงออกให้เป็นท่าทางกิริยาอาการต่าง ๆ  เช่น โกรธ รัก โศกเศร้า เสียใจ มนุษย์ได้นำมาดัดแปลงให้มีความงดงามเป็นท่าทางการร่ายรำ

   ท่ายืนของทศกัณฐ์ที่ประดิษฐ์ดัดแปลงมาจากท่ายืนธรรมชาติของมนุษย์ ให้มีความงดงามตามแบบศิลปะการแสดง       



๒. เกิดจากการบวงสรวงเทพเจ้า แต่โบราณมนุษย์ทุกชาติทุกภาษาต่างหาสิ่งยึดเหนี่ยวเพื่อเป็นที่พึ่งทางจิตใจ เทพเจ้า หรือพระผู้เป็นเจ้าจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตมนุษย์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต่างเกิดจากการสมมติเช่น ญี่ปุ่นนับถือพระอาทิตย์เป็นการบูชาความสำคัญของดวงอาทิตย์ที่ให้ความร้อน และแสงสว่าง อินเดียบูชารูปเคารพซึ่งแต่งตั้งเป็นเทพเจ้าต่าง ๆ  ไทยเชื่อถือภูตผี เทพารักษ์ เจ้าป่า เจ้าเขา รูปเคารพต่าง ๆ เป็นต้น จากกนั้นก็มีการบวงสรวงบูชาด้วยอาหาร ด้วยการร่ายรำ กระโดดโลดเต้นตามจังหวะ เกิดเป็นแบบแผนวัฒนธรรมการแสดงของแต่ละชาติจนถึงปัจจุบัน 


              



ในสมัยโบราณการเต้น หรือการฟ้อนรำเป็นสิ่งที่ขาดไมได้ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ต่อมาจึงมีการพัฒนานำมาเล่นเพื่อความผ่อนคลายสนุกสนานจากการทำงาน และมีพัฒนาการตลอดเวลาจึงทำให้กลายเป็นศิลปะการแสดงได้


  ๓. เกิดจากอารมณ์สะเทือนใจของมนุษย์  อารมณ์สะเทือนใจหมายถึงความรู้สึกชื่นชมประทับใจ  ซาบซึ้งในเรื่องราว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม  พฤติกรรมมนุษย์ในสังคม  หรือไปพบเห็นสิ่งต่างเกิดความ     ชื่นชมประทับใจ จึงนำมาสร้างสรรค์ให้เป็นการเคลื่อนไหว เรื่องราว โดยผสมผสานจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ทำให้เรื่องราว หรือการเคลื่อนไหวนั้นน่าสนใจ ประทับใจผู้ชม



ภาพยนตร์เรื่องโหมโรง เป็นภาพยนตร์ที่นำเอาเรื่องราวของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)   มาสร้างสรรค์ เป็นตัวอย่างของศิลปะการแสดงที่เกิดจากความประทับใจในเรื่องราวและผลงานทางดนตรีไทยของปรมาจารย์ทางดนตรีไทยท่านนี้

อ่านต่อศิลปะการแสดง ๒