วันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2557

ศิลปะการแสดงไทย

ประวัตินาฏศิลป์ไทย
จากหลักฐานศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้กล่าวถึงคำว่า ระบำ รำ เต้น
สันนิษฐานว่าไทยเรามีรูปแบบการแสดงและนาฏศิลป์มาตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อถึงสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นยุคที่นาฏศิลป์ได้รับความนิยมและมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง  และมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานนาฏศิลป์ที่เป็นแบบแผนทั่วประเทศจนถึงปัจจุบัน
                นักวิชาการหลายท่าน เข้าใจว่านาฏศิลป์ไทยสมัยโบราณได้อิทธิพลการแสดงจากอินเดียหลายด้าน ทั้งนี้ได้มีการศึกษาเปรียบเทียบ พบว่าอิทธิพลทางการแสดงที่ไทยได้รับจากอินเดียได้แก่




การตั้งแท่นพิธีไหว้ครูนาฏศิลป์ไทย

๑.  แนวคิดเกี่ยวกับกำเนิดนาฏศิลป์และการนับถือครูนาฏศิลป์
                ชาวอินเดียเชื่อว่านาฏศิลป์ของตนเองมีลักษณะเป็น “ทิพยะกำเนิดเกิดจากเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ คือ พระศิวะ(อิศวร) และพระพรหม  โดยมีพระภรตฤษีเป็นปฐมาจารย์แห่งการละคร  นาฏศิลป์ไทยได้รับอิทธิพลด้านนี้ด้วย จึงเชื่อว่านาฏศิลป์เป็นศิลปะที่ขลัง ศักดิ์สิทธิ์  การถ่ายทอดจึงต้องกระทำด้วยความเคารพศรัทธา  มีการนับถือเศียรหรือศีรษะจำลองที่เป็นเทพเจ้าตามความเชื่อของอินเดีย  มีพิธีกรรมการไหว้ครูที่มีผู้ประกอบพิธีแต่งกายแบบพราหมณ์ทำพิธีบวงสรวงบูชาเทพเจ้าแบบลัทธิพราหมณ์ฮินดูของอินเดีย





๒.  ลีลาการร่ายรำ
               หลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยพบว่าโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่นรูปหล่อโลหะในแต่ละยุคสมัย  รวมทั้งเครื่องปั้นดินเผาในสมัยทวารวดีมีหลายชิ้นที่มีรูปคนเล่นดนตรี  และฟ้อนรำ แสดงท่ารำตรงกับท่ารำในคัมภีร์นาฏยศาสตร์ของอินเดีย  จึงสันนิษฐานได้ว่าชาวอินเดียและชาวไทยมีความสัมพันธ์กันทางวัฒนธรรมด้านนาฏศิลป์มาตั้งแต่โบราณโดยผ่านเข้าสู่ประเทศไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม คือ ผ่านชนชาติชวาและเขมร และมีการปรับปรุงให้เป็นรูปแบบตามเอกลักษณ์ของไทยในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน




เครื่องหนังหน้าเดียวของอินเดีย

เครื่องหนังหน้าเดียวของไทยเรียกว่า "โทน"
 ๓. วงดนตรีปี่พาทย์
               วงดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงนาฏศิลป์ไทยนั้นใช้วงปี่พาทย์บรรเลง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ให้ความเห็นว่าเครื่องปี่พาทย์ของไทย  มอญ  และชวา ได้ต้นแบบมาจากเครื่องปัญจดุริยางค์ของอินเดีย (ประกอบด้วยเครื่องดนตรีประเภท ดีด สี ตี เป่า และเครื่องเคาะ)  แล้วนำมาปรับตามความนิยมในแต่ละภูมิประเทศ


ละครชาตรีของไทย
ละครยาตราของอินเดีย

๔. วิธีการแสดง
               รูปแบบการเล่นละครโนห์ราชาตรีซึ่งเป็นละครชาวบ้านของไทยแต่เดิมมีลักษณะเป็นละครเร่เช่นเดียวกับละครยาตราของอินเดีย ที่แสดงไปตามที่ต่าง ๆ ใช้ผู้แสดงไม่มาก เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับละครชาตรีของไทยสมัยโบราณพบว่ามีรูปแบบวิธีการแสดงที่คล้ายคลึงกัน ขณะเดียวกันการแสดงโขนของไทยก็มีลักษณะการแสดงคล้ายกับการแสดงกถักฬิของอินเดียคือ ใช้ผู้แสดงเป็นชายล้วน วาดหน้าให้ดูเหมือนสวมหน้ากากเพื่อรับบทบาทเป็นตัวละครในเรื่อง  แสดงท่าเต้นและท่าทางประกอบการร้อง การพากย์เจรจา เช่นเดียวกัน



การเบิกโรง "ประเลง" ของไทย
ใช้เบิกโรงก่อนแสดงโขน และละครใน












                
                          การแสดงเบิกโรงก่อนเริ่มแสดงเป็นเรื่องราวในการแสดงโขน ละครในของไทย โดยเฉพาะการแสดงชุด   ประเลง” มีลักษณะคล้ายกับการแสดงของอินเดียที่มีการสวดบูชาเทพเจ้าและมีการแสดงชุดปริวรรตนะ ที่มีผู้แสดงถือธงออกมาร่ายรำบูชาธงและเทพเจ้า เพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายบนเวที เข้าใจว่าไทยคงได้รับอิทธิพล   ด้านรูปแบบการแสดงดังกล่าวมาจากอินเดียแล้วนำมาปรับให้เหมาะสม

ภาพวาดนางกินรี ในวรรณกรรม
เรื่องพระสุธนมโนห์รา
๕. ความสัมพันธ์ทางบทละคร
             วรรณคดีของอินเดียที่มีอิทธิพลต่อนาฏกรรมไทยมากที่สุดคือเรื่อง “รามายณะ”  โดยนาฏกรรมไทยไม่ว่าจะเป็น  โขน  ละครใน  หนังใหญ่  หนังตะลุง  นิยมนำมาแสดง ขณะที่วรรณกรรมเรื่องมหาภารตะ มีเนื้อหาเรื่องราวบางตอนแทรกปรากฏในบทละครเรื่องศกุนตลา  สาวิตรี  และปรียทรรศิกา  บทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๖ รวมทั้งเรื่องอุณรุทก็เป็นวรรณคดีที่ได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมอินเดียเช่นกัน
บทละครไทยเป็นเรื่องราวประเภทจักร ๆ วงศ์ ๆ  เช่นเดียวกับบทละครอินเดีย ที่เป็นเรื่องราวของ
ชนชั้นสูง ตัวเอกเป็นเทพอวตารเป็นกษัตริย์  มีเนื้อหาแสดง
ความรัก  ฟันฝ่าอุปสรรค  การพลัดพราก  การรบ  การผจญภัยของตัวละครตัวเอก  นิยมจบเรื่องโดยไม่ให้ผู้ชมพบเห็นสิ่งที่ร้ายแรงบนเวที ไม่แสดงตอนสิ้นชีวิตของตัวละครที่สำคัญ  ให้ตอนสุดท้ายของเรื่องจบลงด้วยความสุข  ด้วยอิทธิพลนี้ทำให้บทละครไทยมีรูปแบบการดำเนินเรื่องเช่นเดียวกับบทละครอินเดีย  ยกเว้นเรื่องพระรถเมรีที่จบลงด้วยการตายของนางเมรี ต่อมามีเรื่อง พระสุธนมโนห์รา ให้เรื่องจบลงแบบสุขนาฏกรรมตามแบบบทละครเรื่องอื่น ๆ ทำให้มีผู้ชมนิยมดูสองเรื่องนี้ และเล่นสืบกันมาเป็นเวลานาน


               
พระสุธน กับตลกตามพระ
              

               นิยมให้มีบทบาทตัวตลกในเรื่องคอยติดตามพระเอกหรือนางเอกในฐานะสหายสนิท เป็นอิทธิพลที่ได้รับจากละครสันสกฤตของอินเดียที่มีตัว “วิทูษกะเป็นตัวละครสำคัญขาดไม่ได้ในการแสดงละคร บทบาทของตัวตลกหรือพี่เลี้ยง มีอิทธิพลปรากฏสืบทอดในละครไทยมานานแม้กระทั่ง การแสดงภาพยนตร์ไทย จะพบว่าภาพยนตร์ไทยในยุคหนึ่งเรื่องราวต้องมีตัวตลกตามพระหรือตามนางอยู่เสมอ

         


          นาฏศิลป์ไทยจัดเป็นศิลปะแห่งการละคร  ฟ้อนรำ  และดนตรี  เพราะประกอบด้วยการแสดงออกศิลปะ  ๓  ประการ  คือ 
๑. มีการเคลื่อนไหวที่อ่อนช้อยงดงามเป็นศิลปะแห่งการร่ายรำที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ
๒. มีศิลปะการดนตรี ประกอบการแสดง ลักษณะวงดนตรีตลอดจนเสียงและทำนองเพลงมีเอกลักษณ์เฉพาะเช่นเดียวท่าร่ายรำ
๓. มีการขับร้องประกอบการแสดงลีลาการขับร้องมีลักษณะและรูปแบบเฉพาะเช่นเดียวกัน


ระบำ รำ ฟ้อน เซิ้ง ตารี

                ระบำ รำ ฟ้อน เซิ้ง ตารี เป็นการแสดงนาฏศิลป์ไทยประเภทไม่เป็นเรื่องราว การนำเสนอจึงนิยมใช้เวลาสั้น ๆ ลีลาท่าทางที่แสดงออกอาจมีความหมายตามบทร้องที่ใช้ร้องประกอบการแสดง หรือไม่มีความหมายก็ได้  หากไม่มีการขับร้องประกอบมีเพียงการบรรเลงดนตรีประกอบการแสดง ท่าทางที่แสดงออกยังคงมีลักษณะที่งดงามตามแบบนาฏศิลป์ไทย การแสดงประเภทนี้ อาจเป็นการแสดงเดี่ยว การแสดงคู่ หรือการแสดงหมู่ก็ได้ การสร้างสรรค์การแสดงประเภทนี้ผู้ประดิษฐ์อาจได้แนวคิดจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม ความเชื่อ ค่านิยม ขนบประเพณี วัฒนธรรมด้านใดด้านหนึ่งแล้วนำมาเป็นพื้นฐานประกอบการสร้างสรรค์งานการแสดงออกมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้แสดงเนื่องในโอกาสต่าง ๆ เช่นงานรื่นเริง งานต้อนรับ งานเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสสำคัญต่าง ๆ หรือใช้แทรกในการแสดงที่เป็นเรื่องราว  ฯลฯ ตามความเหมาะสมได้

 ระบำ

             
                                                                                ระบำนกยูง 
                
                        เป็นการแสดงที่ใช้ผู้แสดงร่ายรำพร้อมกันเป็นหมู่ เป็นชุด อาจใช้ตั้งแต่สองคนขึ้นไป ไม่ดำเนินเรื่องราว  มีบทร้องประกอบหรือไม่มีก็ได้ ระบำเป็นศิลปะที่มุ่งความงดงามของท่ารำ คำนึงถึงความพร้อมเพียง การจัดรูปแบบแถว และความสวยงามของการแต่งกายเป็นสำคัญ
    คำว่า ระบำมีความหมายรวมถึงคำว่า ฟ้อน” “เซิ้ง” “ตาลีเข้าไว้ด้วย เพราะวิธี และรูปแบบการแสดงมีลักษณะเหมือนกัน หากแต่แยกให้เห็นความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น จะมีความแตกต่างกันในลีลาท่าร่ายรำ สำเนียงดนตรีการขับร้อง(ถ้ามี)  การแต่งกายที่แต่งตามประเพณีนิยม






ฟ้อนสาวไหม เป็นการแสดงที่สะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ภาคเหนือ


เซิ้งโปงลาง สะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ภาคอีสาน


ตารีมาลากัส สะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ในกลุ่มชาวไทยมุสลิม

  ระบำแบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะ คือ

          
         ระบำสี่บท ระบำมาตรฐานเป็นระบำเทวดา-นางฟ้า 
ผู้แสดงแต่งกายยืนเครื่อง
                                     
                               . ระบำแบบมาตรฐาน ระบำที่ประกอบด้วยท่ารำ บทร้อง และการบรรเลงเพลงตามแบบนาฏศิลป์ไทย ซึ่งครูอาจารย์ทางนาฏศิลป์ได้กำหนดแบบแผนกระบวนการรำที่มีลักษณะเฉพาะ เป็นที่ยอมรับกันมาช้านาน การแต่งกาย นิยมแต่งยืนเครื่องพระ- นาง ระบำประเภทนี้ ได้แก่ ระบำสี่บท ระบำพรหมมาสตร์ ระบำดาวดึงส์ ระบำกฤดาภินิหาร ฯลฯ





          ระบำพม่า-ไทยอธิษฐาน เป็นระบำปรับปรุงใหม่

                                 . ระบำแบบปรับปรุงใหม่ หมายถึง ระบำที่ปรับปรุงหรือสร้างขึ้นใหม่ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมต่อการนำไปใช้ในโอกาสต่าง ๆ เช่น งานต้อนรับ งานรื่นเริง งานเฉลิมฉลองต่าง ๆ การสร้างสรรค์อาจเลียนแบบปรับปรุงจากระบำแบบมาตรฐานโดยยึดแบบ ลีลาตลอดจนความสวยงามด้านท่าทางที่สำคัญ การแต่งกาย การจัดรูปแถว เป็นต้น หรือมีการปรับปรุงจากพื้นบ้านโดยสร้างสรรค์ขึ้นจากวิถีชีวิตของคนพื้นบ้านเช่น การทำมาหากิน อุตสาหกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม แต่ละท้องถิ่น โดยแสดงออกในรูประบำ เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น เช่น เซิ้งบั้งไฟ เต้นกำรำเคียว ระบำงอบ ระบำกะลา รองเง็ง ฟ้อนสาวไหม ระบำกรีดยาง ฯลฯ เป็นต้น
          ระบำประเภทปรับปรุงขึ้นใหม่นี้ ลักษณะท่ารำไม่ตายตัว มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับโอกาสที่แสดง  ตัวบุคคล ตลอดจนฝีมือ และความสามารถของผู้สอน และตัวผู้เรียน


 รำ
            ความหมายของการแสดง หมายถึง ศิลปะการรำเดี่ยว รำคู่ รำหมู่ รำอาวุธ ข้อสังเกตในการเรียกการแสดงชุดหนึ่งชุดใดว่า “รำ” นั้น สังเกตได้ ดังนี้
         
รำฉุยฉายพราหมณ์ เป็นการรำเดี่ยว 
โดย ด.ร ศุภชัย  จันทร์สุวรรณ    ศิลปินแห่งชาติ

                                     . ถ้าเป็นการแสดง “เดี่ยว” (รำคนเดียว) เรียกได้ว่า “รำ” เช่น รำฉุยฉายต่าง ๆ (ฉุยฉายพราหมณ์ ฉุยฉายเบญจกาย ฯลฯ)  รำกริชเดี่ยว รำมโนห์ราบูชายัญ รำพลายชุมพล ฯลฯ เป็นต้น






รำคู่ ที่ผู้แสดงรำตามบทร้องคนละบท ใช้คำว่ารำนำหน้าชื่อชุดการแสดง


รำอาวุธ เป็นการแสดงประเภทรำคู่

          . หากเป็นการแสดง “คู่” ให้พิจารณาดูที่ “บท” ว่ารำใช้บทเดียวกันหรือไม่  ถ้าบทเดียวกันจะออกไปในรูปของ “ระบำ” จัดเป็น ”รำหมู่”  ถ้ารำคนละบทมักใช้คำว่า “รำ” การรำใช้บท หรือทำบท  หมายถึงการแสดงท่ารำตามบทร้องที่ประกอบการแสดง  ท่ารำจึงมีความหมายตามบทที่แต่งไว้ เช่น รำคู่ชุดเงาะรจนาเสี่ยงพวงมาลัย ออกมารำ ๒ คน รำคนละบท ลีลาของตัวละครต่างกัน หรือรำอาวุธ เรียกว่ารำ เพราะตัวละครทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันด้วยลีลาคนละแบบ
          




รำสีนวล 

                             ๓. การแสดงที่ออกมารำเป็นหมู่ เช่น รำสีนวล รำแม่บท เรียกว่า “รำ” ไม่เรียกว่า “ระบำ” กรณีนี้ต้องพิจารณาว่า การแสดงชุดนั้นตัดตอนออกมาจากการแสดง “ละคร” หรือไม่ ถ้ามาจากละคร การรำนั้นมักเป็นการรำของตัวละครตัวเดียวมาก่อน แม้จะตัดตอนออกมาแสดง  แสดงเป็นหมู่ก็ยังเรียกว่า “รำ” ตามคำเรียกเดิมของการแสดงชุดนั้น เช่น รำสีนวล เป็นการรำของนางวิฬาร์(นางแมว) ตัวละครในเรื่องไชยเชษฐ์   รำแม่บทมาจากเรื่องรามเกียรติ์ ตอนนารายณ์ปราบนนทุก เป็นบทรำของนางนารายณ์แปลง รำล่อให้นนทุกรำตาม เป็นต้น
          คำว่า ฟ้อน” “เซิ้ง” “ตารีจัดเป็นระบำประเภทพื้นเมือง แต่งกายตามลักษณะของท้องถิ่น การแสดงประกอบด้วยเพลงที่มีทำนองและบทร้องตามภาษาท้องถิ่นหรือภาคนั้นๆ เช่น ภาคเหนือ ได้แก่ ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนเงี้ยว ฟ้อนสาวไหม ฯลฯ ภาคอีสาน ได้แก่ เซิ้งสวิง เซิ้งกระหยัง เซิ้งกระติ๊บข้าว เซิ้งโปงลาง ฯลฯ ภาคใต้ ได้แก่ ตารีกีปัส ตารีบุหงารำไป ฯลฯ เป็นต้น

นาฏยศัพท์ ภาษาท่า
นาฏยศัพท์



หมายถึง  คำ  หรือ  ศัพท์ ที่ใช้เรียก และอธิบายท่ารำ หรือ ท่าทางในการฝึกปฏิบัติ  หรือ  การแสดงออกท่านาฏศิลป์ แบ่งออกเป็น 3 หมวด คือ
๑. หมวดนามศัพท์
          เป็นหมวดที่ใช้เรียกชื่อเฉพาะของการแสดงท่าทางนั้น ๆ เช่น จีบ ตั้งวง ประเท้า จรดเท้า ก้าวเท้า ฯลฯ

๒. หมวดกิริยาศัพท์
          เป็นหมวดที่ใช้บอก หรือเรียกกิริยาอาการในขณะปฏิบัติท่านาฏศิลป์ว่าถูกต้องตามหลักนาฏศิลป์ หรือไม่ถูกต้องตามหลักนาฏศิลป์ แบ่งออกเป็น
                 - ศัพท์เสริม   ได้แก่ กิริยาการแสดงออกที่ถูกต้องตามหลักนาฏศิลป์ไทย เช่น ทรงตัว ตึงเอวตึงไหล่ ทับหน้าขา ลดวง กันวง ฯลฯ
                 - ศัพท์เสื่อม     ได้แก่ คำที่บอกให้ทราบว่าท่าทางที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามหลักนาฏศิลป์ควรแก้ไข เช่น วงล้น วงหัก วงคว่ำ วงล้า หลังค่อม แอ่นหน้า ก้นโด่ง ฯลฯ 
          ในการแก้ไขท่ารำ หากผู้ปฏิบัติเข้าใจลักษณะท่าทางของศัพท์เหล่านี้จะทำให้รู้ว่าตนเองแสดงท่ารำถูกต้องหรือไม่ และควรปรับท่ารำอย่าง โดยครูผู้สอนนิยมบอกโดยใช้ศัพท์เสื่อมก่อน แล้วตามด้วยการใช้ศัพท์เสริม เช่น ตั้งวงล้นให้ลดวง ลง มา คำว่า "วงล้น" เป็นศัพท์เสื่อม คำว่า "ลดวง" เป็นศัพท์เสริม เป็นต้น

๓. นาฏยศัพท์เบ็ดเตล็ด
           เป็นคำที่ใช้บอกประเภทตัวละคร ลักษณะการแสดงออกของท่าทาง การแปรรูปแบบแถว  เช่น ตัวพระ ตัวนาง จำอวด ตลกตามพระ ขึ้นรอย ขึ้นท่า แม่ท่า  เหลี่ยมพระ เหลี่ยมยักษ์ เหลี่ยมลิง ตั้งซุ้ม แถวตอน แถวสับหว่าง ฯลฯ
           ทั้งนี้การนำเอานาฏยศัพท์มาปฏิบัติท่านาฏศิลป์ไทยต้องเคลื่อนไหวให้ต่อเนื่องท่ารำเชื่อมต่อกันสัมพันธ์กันตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า จึงจะทำให้เกิดเป็นท่าเคลื่อนไหวนาฏศิลป์ไทยที่งดงามได้


การขึ้นรอยในการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุด ยกรบ

ภาษาท่า
                เป็นการใช้ท่าทางที่เป็นท่าร่ายรำสื่อให้ผู้ชมความเข้าใจ  ในการแสดงนาฏศิลป์ไทย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงที่เป็นเรื่องราว หรือไม่เป็นเรื่องราว นิยมใช้ภาษาท่าเป็นการสื่อสารให้ผู้ชมเข้าใจในท่าทาง  การเคลื่อนไหว และการแสดงอารมณ์ โดยภาษาท่าในนาฏศิลป์ไทยจะถูกประดิษฐ์ให้มีความอ่อนช้อยงดงามตามแบบท่ารำนาฏศิลป์ไทย เราจึงเรียกท่าทางนั้นอีกอย่างว่า ภาษานาฏศิลป์ หากภาษาท่า หรือภาษานาฏศิลป์นั้นถูกประดิษฐ์เพื่อให้เหมาะสมกับ บทร้อง บทพากย์บทเจรจา ในการแสดงโขน ละคร ก็มักจะเรียกการแสดงออกท่าทางนั้นว่า การรำบท หรือการตีบท

                ภาษาท่าแยกได้ตามความหมายของการแสดงออก ดังนี้

๑. ภาษาท่าที่ใช้แทนคำพูด วัน เวลา สถานที่ นาม หรือสรรพนามอื่น ๆเช่น  ข้าพเจ้าหรือตัวเรา   ท่านหรือเธอ   วันนี้  วันพรุ่งนี้   แต่ก่อน   เช้า   สาย   บ่าย   เย็น   กลางวัน   กลางคืน ความงาม  ความดี  ชั่วร้าย ฯลฯ
๒. ภาษาท่าที่ใช้แสดงกิริยาอาการต่าง ๆ เช่น เดิน  ยืน  นั่ง  นอน วิ่ง มอง
๓. ภาษาท่าที่ใช้แสดงอารมณ์ เช่น  รัก  โกรธ  ดีใจ  เสียใจ  ตกใจ  กลัว  ฯลฯ




การแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุดลักสีดา 
มีการแสดงท่ารำที่มีลักษณะเป็นภาษาท่า 
โดยรำประกอบการขับร้อง แสดงภาษาท่าประกอบการเจรจา 
และแสดงภาษาท่าโต้ตอบกัน ระหว่างนางสีด กับทศกัณฐ์

เพลง และการแสดงพื้นบ้านไทย

เพลงพื้นบ้าน หมายถึง เพลงของชาวบ้านที่มีลักษณะเฉพาะท้องถิ่น แตกต่างกันออกไปตามความนิยม และสำเนียงภาษาที่พูด เพลงประเภทนี้สืบทอดโดยวิธีมุขปาฐะ มีลักษณะเด่น คือ ความสนุกสนาน เรียบง่ายในถ้อยคำ จังหวะ การร้อง และการแสดงออก นิยมร้องเล่นในงานเทศกาลต่าง ๆ เช่น ขึ้นปีใหม่ ทอดกฐิน สงกรานต์ หรืองานที่มีการชุมนุมผู้คนในหมู่บ้าน และการลงแขกงานอาชีพต่าง ๆ ในแต่ละท้องถิ่น

ประเภทของเพลงพื้นบ้าน
          สามารถแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ ๆ  ตามลักษณะของเนื้อหา และความมุ่งหมายในการร้อง ดังนี้
๑.     เพลงสำหรับเด็ก เช่น  เพลงกล่อมเด็ก เพลงร้องเล่นของเด็ก และ เพลงร้องปลอบโยนเด็ก
๒. เพลงประกอบการเล่นของชาวบ้านอาจใช้ร้องประกอบการเล่นพื้นบ้าน เช่น การร้องเพลงประกอบการเล่นเพลงเหย่อย(รำพาดผ้า) การร้องเพลงประกอบรำโทน  เป็นต้น  และการเล่นเพลงปฏิพากย์เป็นการด้นกลอนร้องโต้ตอบกัน เช่น ลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว ซอ หมอลำ หมอเพลง(เพลงโคราช เจรียงหรือจำเรียง  เพลงบอก ลิเกฮูลู เป็นต้น
        ๓. เพลงประกอบพิธีกรรม เช่น บทสวด บทแหล่ บทคำขวัญในพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เป็นพิธีกรรมของชาวบ้าน




ลำตัด เพลงพื้นบ้านภาคกลาง เป็นศิลปะการด้นกลอนโต้ตอบกัน 
เล่นได้ทั้งรูปแบบกลอนเพลงโต้ตอบกัน และเล่นเป็นเรื่อง
หากเล่นเป็นเรื่อง เรียกว่าลำตัดทรงเครื่อง หรือ ลิเกลำตัด 
เช่นเดียวกับการเล่นเพลงฉ่อย หากเป็นเรื่องราวเรียกว่า
 เพลงฉ่อยทรงเครื่อง หรือเพลงทรงเครื่อง




การเล่นเพลงฉ่อยคณะหวังเต๊ะ แม่ประยูร 

       การแสดงพื้นบ้าน    หมายถึงการแสดงของชาวชนบท ที่พัฒนามาจากการดำเนินชีวิต ความคิด ความเชื่อ ศาสนา ขนบธรรมเนียม ประเพณี ตลอดจนวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันออกไป ตามเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ ความเป็นอยู่ ค่านิยม ของท้องถิ่น นั้น ๆ อาจแสดงออกมาในรูปแบบของการเล่น หรือการร่ายรำ
     หากแสดงออกมาในรูปแบบการละเล่นพื้นบ้านที่นิยมเล่นกันมีทั้งการเล่นของเด็กและผู้ใหญ่ สำหรับเด็ก ได้แก่ รีรีข้าวสาร โพงพาง แม่งู จ้ำจี้  ฯลฯ การละเล่นที่ผู้ใหญ่นิยมเล่น ได้แก่ กระทบไม้ ทอยสะบ้า หากมีเพลงร้องประกอบ เช่น รำวง รำโทน การเล่นแม่ศรี เป็นต้น

                ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเล่นเพลงและการละเล่นพื้นไทยไทยแต่ละภาค
           ๑. สภาพทางภูมิศาสตร์ มีอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมการแต่งกาย ท่วงทำนองหรือสำเนียงบทเพลง ลีลาการเคลื่อนไหวการแสดงออก เป็นต้น
                ๒.ประเพณี มีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์การเล่นการร้องเพลงพื้นบ้าน เช่น งานประเพณีต่าง ๆ ในท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นนิยมนำเอาการเล่นเพลง การละเล่น การแสดงพื้นบ้านมาแทรกเพื่อให้เกิดความสนุกสนานในงานประเพณีนั้น ๆ
                ๓. ศาสนา ในคำสอนของศาสนาทุกศาสนานิยมเอาเรื่องราวต่าง ๆ ในรูปแบบนิทานพื้นบ้าน นิทานชาดกมาเล่าเพื่อขัดเกลา ศาสนิกชน รูปแบบของการเล่าเรื่องราวจะมีวิธีการที่แตกต่างกันไป บ้างก็นำมาร้องในรูปแบบเพลงพื้นบ้าน บางครั้งก็นำมาแสดงเป็นเรื่องราว เมื่อมีงานเฉลิมฉลองเกี่ยวกับศาสนามักพบว่ามีการนำเอาการเล่นเพลง การละเล่น การแสดงพื้นบ้างเข้าเกี่ยวข้องด้วย
                ๔. ความเชื่อ ความเชื่อของคนในสังคมแต่ละกลุ่มต่างเชื่อแตกต่างกันไปบ้าง เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันบ้าง เมื่อมีการสร้างสรรค์เพลงพื้นบ้าน และการละเล่นหรือการแสดงพื้นบ้านจึงนิยมสอดแทรกความเชื่อที่สังคมปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาโดยใช้เพลงและการละเล่นหรือการแสดงพื้นบ้านเป็นสื่อให้คนในสังคมได้รับรู้ได้นำไปปฏิบัติ และสืบทอดความคิดความเชื่อที่บอกเล่าผ่านการเล่นเพลงและการละเล่นหรือการแสดงพื้นบ้าน
                ๕. ค่านิยม เป็นสิ่งที่คนในสังคมมองเห็นว่าสิ่งที่ปฏิบัติต่อๆ กันมาเป็นสิ่งที่ดีถูกต้องเหมาะสมเป็นที่ยอมรับสอดคล้องกับความเชื่อ ขนบประเพณีเป็นสิ่งที่ดีงามต่อวิถีชีวิต จึงนิยมปฏิบัติตามกันมานาน เมื่อเห็นว่าการเล่นเพลงและการละเล่นหรือการแสดงพื้นบ้านเป็นสิ่งที่ดี ก็นิยมสร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้ขึ้นมา เช่น ในการต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองตามความเชื่อของชาวล้านนานิยมให้มีพิธีฮ้องขวัญ (เรียกขวัญ) โดยนำเอาทำนองเพลงพื้นบ้านมาขับประกอบการพรรณนาความเชื่อว่าจะทำให้ผู้มาเยือนมีความสุข ก็นิยมปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งพิธีเรียกขวัญแบบพื้นบ้านล้านนาจัดเป็นพิธีกรรมของชาวบ้านเช่นกัน

           เพลงพื้นบ้าน การแสดงพื้นบ้านภาคเหนือ  ได้แก่  เพลงซอ  และฟ้อนประเภทต่าง ๆ 

   การซอ ของชาวล้านนา
     


                                        ฟ้อนเล็บภาคเหนือ

          

การเล่นเพลงอีแซวของภาคกลาง


การเล่นรำโทนของภาคกลาง

        เพลงพื้นบ้าน การแสดงพื้นบ้านภาคกลาง  ได้แก่  ลำตัด เพลงเรือ เพลงอีแซว เพลงฉ่อย  รำโทน รำเหย่อย (พาดผ้า) แม่ศรี ฯลฯ
             


หมอลำกลอน ภาคอีสาน


การเล่นเพลงโคราช นิยมเล่นในจังหวัดนครราชสีมา



การแสดงเซิ้งโปงลาง



การแสดงฟ้อนภูไท

           เพลงพื้นบ้าน การแสดงพื้นบ้านภาคอีสาน  ได้แก่  หมอลำ เจรียง เพลงโคราช เซิ้งต่าง ๆ ฟ้อนภูไท ฯลฯ




เพลงบอกภาคใต้


การรำโนรา ภาคใต้



การเล่นลิเกฮูลู ภาคใต้ จากรายการคุณพระช่วย

              เพลงพื้นบ้าน การแสดงพื้นบ้านภาคใต้  ได้แก่  เพลงบอก เพลงตัก ลิเกฮูลู  โนรา การแสดงชุดตารีต่างๆ

โขน ละครไทย
          ละคร
          ความหมาย คำว่า ละครเป็นคำที่เพิ่งนำมาใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้เพราะในสมัยกรุงสุโขทัยยังไม่ปรากฏคำนี้  ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แปลว่า การมหรสพอย่างหนึ่งที่เล่นเป็นเรื่องเป็นราวต่าง ๆ ซึ่งหมายความว่าต้องแสดงเป็นเรื่องจึงจะเป็นละคร แม้ว่าจะใช้ท่ารำประกอบก็ต้องเล่นเป็นเรื่องเป็นราว
          การละครของไทยมีมาตั้งแต่โบราณ มีส่วนประกอบระหว่างการขับร้อง การฟ้อนรำ และการบรรเลงดนตรี การแต่งกายตลอดจนบุคลิกภาพของผู้แสดงที่แสดงออกมาเป็นท่าร่ายรำ  ละครไทยมีพัฒนาการมาโดยตลอด ในยุคแรกเป็นการแสดงที่เน้นการร่ายรำจึงยึดกระบวนการรำเป็นหัวใจการแสดงเนื่องด้วยผู้ชมจะพบเห็นการแสดงกระบวนการรำประกอบการแสดงกิริยาอาการต่าง ๆ เช่น เดิน ยืน นั่ง นอน ประกอบการแสดงอารมณ์ต่าง ๆ เช่น รัก โกรธ ดีใจ เสียใจ ฯลฯ ตลอดจนในขณะเจรจาก็เห็นการแสดงท่ารำประกอบ ต่อมาละครไทยเริ่มมีการพัฒนาจึงลดกระบวนการรำให้น้อยลง แต่ผู้ชมยังพบเห็นการแสดงท่ารำประกอบ ในการเปลี่ยนแปลงครั้งที่๓ เป็นการเปลี่ยนแปลงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ละครไทยเริ่มมีการแสดงออกตามแบบที่ได้อิทธิพลจากละครตะวันตก ทำให้เกิดละครไทยที่แสดงตามแบบละครตะวันตก  เมื่อมีการพัฒนาจึงทำให้เกิดละครหลายประเภท เช่น

๑. ละครรำที่เป็นแบบแผนดั้งเดิม เป็นละครที่เล่นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มาถึงปัจจุบัน อาจมีการ เปลี่ยนแปลงพัฒนาให้เหมาะตามค่านิยมคนดูในปัจจุบันบ้าง ละครประเภทนี้ได้แก่

                 ละครโนห์รา ชาตรี  หรือละครชาตรี  เป็นละครที่ชาวบ้านเล่นกันมาแต่เดิมเข้าใจว่าเกิดก่อนละครนอก และละครใน เดิมเล่นกลางแจ้งมีเพียงหลังคากันแดดเท่านั้น มีเสาอยู่กลางเวทีเป็นเสามหาชัย มีซองคลีผูกติดเสาหากไม่มีเวทีนิยมเล่นกลางลานกว้าง ในศาลา หน้าโบสถ์ ผู้แสดงเดิมใช้เพียง ๓ ตัว เป็นชายล้วน คือ ตัวนายโรง (แต่งกายยืนเครื่อง) ตัวนาง และตัวตลก ซึ่งจะรับบทบาทเป็นตัวละครต่างๆ ในเรื่อง ต่อมาเพิ่มจำนวนผู้แสดงมากขึ้น ปัจจุบันมีผู้หญิงร่วมแสดงด้วย การแต่งกายเดิมให้ตัวนายโรง(พระเอก) แต่งกายยืนเครื่องครึ่งท่อนไม่สวมเสื้อ ศีรษะสวมเทริด ปัจจุบันนิยมแต่งกายยืนเครื่องพระ-นาง ดนตรีประกอบด้วย ปี่ ฉิ่ง กรับ กลอง ต่อมาได้วิวัฒนาการเป็นวงปี่พาทย์ มี ปี่ โทน กลองเล็ก (กลองชาตรี) ฆ้องคู่ สมัยก่อนนิยมแสดง ๒ เรื่อง คือ     เรื่องมโนห์รา ตอนพรานบุญจับนางมโนห์ราไปถวายพระสุธน และเรื่องรถเสน ตอนพระรถมอมเหล้านางเมรี แล้วขึ้นม้าหนีไป ปัจจุบันเล่นกันอยู่หลายเรื่องที่เป็นวรรณกรรมละครนอก


ละครชาตรี เรื่องมโนราห์ จากรายการนัฎกานุรักษ์

                      ละครนอก เป็นละครที่ดัดแปลงมาจากละครโนห์ราชาตรี เดิมไม่เรียกว่าละครนอก ต่อมาได้เกิดละครในราชสำนักขึ้น จึงเรียกเพื่อให้แตกต่างกัน มีการปลูกโรงสำหรับแสดงมีฉากกั้น ด้านหลังฉากให้เป็นที่แต่งตัวและที่พักผู้แสดง มีประตูเข้า ออก ข้าง หน้าฉากวางเตียงใหญ่สำหรับให้ตัวละครนั่ง ไม่มีการเปลี่ยนฉากปัจจุบันนำมาแสดงในโรงละครจึงมีการเปลี่ยนฉากตามเรื่องราวที่แสดง ผู้แสดงเดิมใช้ผู้ชายแสดงล้วน ปัจจุบันมีผู้หญิงแสดงร่วมด้วยการแต่งกายแต่งเลียนแบบเครื่องต้นของกษัตริย์หรือแต่งยืนเครื่อง พระ-นาง ศีรษะสวมมงกุฎ ชฎา รัดเกล้ายอด รัดเกล้าเปลว และกระบังหน้า ตามฐานะของตัวละคร ดนตรีใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้า ประกอบด้วย ปี่ ระนาด ฆ้องวง ตะโพน กลองทัด และฉิ่ง เพลงร้องใช้ทำนองลีลาเร็ว ๆ เอื้อนไม่ละเอียดมากนัก โดยมากดำเนินเรื่องด้วยการร้องร่ายเป็นพื้น นิยมใช้เพลงชั้นเดียว หรือ สองชั้นที่จังหวะรวบรัด วิธีแสดงไม่มีรำเบิกโรงไหว้ครูใช้วงปี่พาทย์โหมโรงเมื่อบรรเลงจบก็เริ่มแสดง ดำเนินเรื่องรวดเร็ว และตลกขบขัน ลีลาการร่ายรำว่องไว กระฉับกระเฉงเหมาะกับทำนองเพลง ใช้ภาษาชาวบ้านตัวสูงศักดิ์อาจพูดหยอกล้อกับตัวเสนาได้ อาจมีภาษาหยาบโลนโลดโผนบ้าง ตอนใดที่มีช่องทางจะเล่นตลกได้ก็จะเล่นตลกอยู่ตรงนั้นนาน ๆ โดยไม่คำนึงถึงเวลา นิยมแสดงเพียง ๑๙ เรื่อง คือ มโนห์รา คาวี มณีพิชัย ไชยทัต พิกุลทอง พิมพ์สวรรค์  พระรถ การะเกด ไชยเชษฐ์ โคบุตร สังข์ทอง สังข์ศิลป์ชัย พิณสุริวงศ์ โม่งป่า ศิลป์สุริวงศ์ โสวัตร สุวรรณศิลป์ สุวรรณหงส์ ไกรทอง ยกเว้น ๓ เรื่องที่ใช้แสดงละครใน






ละครนอก เรื่อง ไกรทอง ตอนพ้อบน
โดย คณาจารย์ นักเรียน นักศึกษา
สถาบันบัณทิตพัฒนศิลป์ (วิทยาลัยนาฏศิลป์)

             ละครใน เกิดขึ้นหลังละครนอก เลียนแบบจากละครนอก เป็นละครสร้างขึ้นสำหรับพระมหากษัตริย์จึงต้องประกอบไปด้วย ความประณีตงดงาม ตั้งแต่กระบวนการรำ บทกลอนที่ใช้การร้องมีสำนวนสละสลวยเหมาะกับท่ารำ ไม่นิยมเล่นบทตลกขบขัน เดิมแสดงในพระราชฐาน ต่อมาแพร่หลายในหมู่ประชาชน ลักษณะโรงที่แสดงจึงเช่นเดียวกับละครพื้นเมือง(ละครนอก) หากแต่ใช้ผ้าและวัสดุอุปกรณ์ประกอบให้งดงามยิ่งขึ้น ใช้ผู้หญิงแสดงล้วนแต่งกายแบบเครื่องต้นของกษัตริย์ หรือแต่งยืนเครื่องพระ นาง ใช้วงปี่พาทย์บรรเลงประกอบการแสดง เพลงร้องใช้ทำนองลีลาช้า ๆ มีเอื้อนละเอียด การแสดงเริ่มต้นด้วยรำเบิกโรง ต่อจากนั้นจึงแสดงเป็นเรื่อง ไม่นิยมเล่นตลกคะนอง ถ้ามีก็จัดเป็นส่วนเป็นตอนให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง นิยมแสดง ๓ เรื่อง คือ อิเหนา อุณรุท รามเกียรติ์ บทละครที่เด่นที่สุดคือเรื่องอิเหนา ในพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๒  เพราะเมื่อนำมาแสดงมีความงามครบองค์ประกอบ ๕ ของละครไทย คือ  ๑. ตัวละครงาม (เครื่องแต่งกายงาม๒. รำงาม (การร่ายรำงดงาม) ๓. ร้องเพราะ (ร้องเป็นเพลงได้ไพเราะ เสียงดี)  ๔. กลอนเพราะ (จัดหมู่ละครได้สวยงาม กลอนแต่งดี)  ๕.พิณพาทย์เพราะ (ปี่พาทย์ประกอบเพลงได้ดี เสนาะหู)






ละครใน เรื่อง อิเหนา ตอนเข้าเฝ้า 
แสดงเนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี คุณครูลมุล  ยะมะคุปต์

 . ละครรำแบบปรับปรุง เป็นละครที่มีการเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยมีการนำเอาละครใน และละคร นอกมาปรับปรุง ได้แก่
                      


ละครดึกดำบรรพ์ เรื่อง คาวี
ใช้ผู้แสดงชาย หญิง แต่เดิมใช้หญิงล้วนแบบละครใน

          ละครดึกดำบรรพ์  เป็นละครที่ปรับปรุงขึ้นจากละครใน เพื่อให้การดำเนินเรื่องราวรวดเร็วทันใจคนชม รวมทั้งมีการแสดงแทรกสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งยังไม่เคยมีในละครประเภทอื่น ๆ มาก่อน  เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์(...หลาน กุญชร) ร่วมกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ปรับปรุงการเล่นให้ต่างออกไปจากการเล่นละครแบบเดิม และได้สร้างโรงละครสำหรับแสดง ชื่อว่า โรงละครดึกดำบรรพ์จึงเรียกละครที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ว่า ละครดึกดำบรรพ์เรียกวงปี่พาทย์ที่ปรับปรุงใหม่สำหรับแสดงละครนี้ ว่า ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์การแสดงมีการเปลี่ยนฉากตามท้องเรื่อง ใช้เทคนิคแสง สี เสียง ในการแสดงเพื่อให้ดูสมจริง ใช้ผู้หญิงแสดงล้วน  แต่งยืนเครื่องพระ นาง เหมือนละครนอก ละครใน ผู้แสดงร้อง และรำประกอบ บทร้องเป็นบทพูดไม่มีเอื้อนมาก มีแทรกบทเจรจาที่แต่งเป็นบทกลอน บางฉากมีการแทรกระบำ รำ ฟ้อน ฉากสุดท้ายต้องมีความสวยงามมากกว่าฉากอื่น ใช้ผู้แสดงจำนวนมาก นำเอาบทละครเดิมมาปรับเพื่อแสดง เช่น สังข์ทอง คาวี อิเหนาตอนใช้บน สังข์ศิลป์ชัย รามเกียรติ์ตอนสูรปนขาหึง ต่อมาได้มีการดัดแปลงบทละครเดิม และแต่งบทเพิ่มเติมขึ้นใหม่หลายเรื่อง เช่น ยศเกตุ จันทกินรี ศกุนตลา ท้าวแสนปม เป็นต้น




ละครพันทางเรื่องราชาธิราช 
ตอนสมิงพระรามรบกามนี
                        
                    ละครพันทาง เป็นละครแบบผสมที่มีตัวละครหลายเชื้อชาติอยู่ในเรื่องเดียวกัน ปรับปรุงขึ้นโดยยึดแบบแผนของ ละครนอก ผู้ริเริ่ม คือ เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง  นิยมนำพงศาวดารของชาติต่าง ๆ มาแสดง เช่น สามก๊ก ราชาธิราช จึงมีเพลงร้อง และดนตรีที่เลียนแบบสำเนียงชาติต่าง ๆ ท่าทางผสมท่ารำไทยกับลีลาของชาติต่าง ๆ แสดงบนเวทีมีการเปลี่ยนฉากตามเนื้อเรื่อง ตลอดจนการใช้เทคนิค แสง สี เสียง ให้สมจริง ใช้ผู้แสดง ทั้งชาย และหญิง แต่งกายตามเชื้อชาติของตัวละครในเรื่องที่แสดง ตัวละครเชื้อชาติไทยแต่งกายยืนเครื่องไม่เต็มที่อย่างละครนอก หรือละครใน เรียกว่า แต่งเครื่องน้อยใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้า เครื่องคู่ หรือ เครื่องใหญ่เป็นหลัก และเพิ่มเครื่องดนตรีตามเชื้อชาติของตัวละคร เช่น จีน ใช้ล่อโก๊ะ และกลองต๊อก พม่า ใช้เปิงมางคอก มาบรรเลงผสมกับวงปี่พาทย์ของไทย เพลงร้องถ้าเป็นเพลงร้องประกอบการแสดงตัวละครชาติต่าง ๆในเรื่องจะดัดสำเนียงเพลงร้องให้เพี้ยนตามชาติของตัวละคร เรียกว่า เพลงภาษา นิยมเล่นเรื่องที่เรียกว่า เรื่องภาษา คือมีชนชาติต่าง ๆ ในเรื่องที่แสดง เช่น ราชาธิราช พระอภัยมณี พระลอ สามก๊ก  ได้มีการปรับปรุงบทละครขึ้นใหม่หลายเรื่อง โดยนำเอาพระราชพงศาวดารของไทยมาแสดง เช่น คุณหญิงโม วีรสตรีถลาง กบฎธรรมเสถียร ฯลฯ มาทำเป็นบทละคร รวมทั้งเรื่องราวพงศาวดารของต่างชาติ เช่นสามก๊ก เลียดก๊ก เป็นต้น




ละครเสภา เรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอน พระไวยฯ แตกทัพ

                         ละครเสภา  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงปรับปรุงการแสดงละครที่เป็นแบบพันทาง แต่ใช้การดำเนินเรื่องด้วยการขับเสภา แทนบทร้อง จึงเรียกละครประเภทนี้ว่า ละครเสภา  แสดงบนเวที มีการจัดฉาก และเปลี่ยนฉากตามเนื้อเรื่อง ใช้ผู้แสดงทั้งชาย และหญิง  แต่งกายตามแบบละครพันทาง และตามลักษณะของเนื้อเรื่องที่แสดง ใช้วงปี่พาทย์ประกอบการแสดง มีกรับเสภาประกอบในวงปี่พาทย์ด้วย ดำเนินเรื่องด้วยการขับเสภาประกอบการรำ และการแสดง ท่าร่ายรำจะมีลักษณะเหมือนกับละครพันทาง คือมีทั้งท่ารำไทย และท่าทางตามเชื้อชาติของตัวละครกรณีที่ตัวละครไม่ใช่ตัวละครเชื้อชาติไทย ที่นิยมนำมาแสดง คือ เรื่องไกรทอง และขุนช้างขุนแผน


                           ละครชาตรีเข้าเครื่อง หรือละครชาตรีเครื่องใหญ่ .ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๖ มีผู้คิดผสมวิธีการแสดงละครชาตรีกับละครนอกเข้าด้วยกัน เรียกว่า ละครชาตรีเข้าเครื่อง โดยให้ตัวละครมีการรำซัดอย่างละครชาตรี และแสดงอย่างละครนอก เพลงร้อง และวิธีแสดงจึงมีทั้งแบบละครนอก และละครชาตรีปนกัน เป็นศิลปะการแสดงละครของไทยอีกแบบหนึ่งที่นิยมนำมาแสดงกันในปัจจุบัน แสดงในโรงละครบางครั้งไม่มีการจัดฉากเช่นเดียวกับละครชาตรี บางครั้งก็มีการจัดฉากอย่างละครนอก ใช้ผู้แสดงทั้งชาย และหญิงแต่งกายตามแบบละครนอก คือแต่งยืนเครื่องพระ นาง ศีรษะสวมเทริดตามแบบละครชาตรี ดนตรีประกอบด้วย ปี่ โทน ฆ้อง และกลอง ตามแบบละครชาตรี ผสมกับวงปี่พาทย์ที่ใช้แประกอบการแสดงละครนอก เรื่องที่แสดง  ใช้บทละครที่เป็นของละครนอก แต่นิยมแสดงเรื่องรถเสน กับมโนห์รา




การแสดงละครชาตรีเครื่องใหญ่ เรื่อง มโนราห์
ตอนพระสุธนเลือกคู่


๓. ละครไทยสมัยใหม่ เป็นละครที่ได้อิทธิพลละครตะวันตก แม้จะได้อิทธิพลละครตะวันตกมาเรื่องราวที่แสดงยังคงเป็นเรื่องราวแบบไทย เกิดขึ้นในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ละครประเภทนี้ได้แก่

                ละครร้อง  แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
๑.      ละครร้องล้วน ๆ
๒.      ละครร้องสลับพูด
                ละครร้องล้วน ๆ เป็นละครร้องในแบบของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ใช้การร้องเป็นบทพูดประกอบการแสดงตลอดเรื่อง การร้องเป็นแบบละครโอเปร่า หรืออุปรากรของทางตะวันตก แสดงบนเวทีมีการเปลี่ยนฉากตามเนื้อเรื่อง ใช้ผู้สดงทั้งชาย และหญิง แต่งกายตามเรื่องราวที่นำมาแสดงใช้วงดนตรีไทย และวงดนตรีสากลมาบรรเลงประกอบการแสดง บทร้องจะแต่งเป็นคำกลอน เรื่องที่แสดงเป็นบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๖ มี ๑๑ เรื่อง ได้แก่ ธรรมะมีชัย มิตรมีชัย พระร่วง สาวิตรี ท้าวแสนปม พระเกียรติรถ ศกุนตลา ตั้งจิตคิดคลั่ง สองกรวรวิก จันทกินรี พระยศเกตุ
                ละครร้องสลับพูด เป็นละครที่ดำเนินเรื่องด้วยการร้อง มีการแทรกบทเจรจา ตามรูปแบบของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงนำแบบแผนการแสดงละครของชาววตะวันตก ที่เรียกว่า Musical Drama มาดัดแปลงเป็นละครไทย ทรงประพันธ์บท และกำกับการแสดงเอง ทรงให้ชื่อคณะละครว่า  คณะละครนฤมิตรเรื่องแรกของคณะคือเรื่อง อาหรับราตรีต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเกียรติให้เป็นละครหลวง จึงเรียกชื่อคณะว่า ละครหลวงนฤมิตรและกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้ทรงตั้งโรงละครขั้นเอง ชื่อ โรงละครปรีดาลัย คนทั่วไปจึงเรียก ละครปรีดาลัย อีกชื่อหนึ่ง แสดงบนเวทีมีการเปลี่ยนฉากตามเนื้อเรื่อง  ผู้แสดงใช้หญิงล้วน หากมีการแสดงตลกแทรกจะใช้ผู้ชายแสดง แต่งกายตามเนื้อเรื่อง หรือตามยุคสมัยของเรื่องที่แสดง หรือ แต่งตามเชื้อชาติของตัวละครในเรื่อง  ใช้วงปี่พาทย์ไม้นวม บรรเลงเฉพาะเพลงหน้าพาทย์ และตอนเปลี่ยนฉาก เมื่อถึงบทร้องของตัวละครอาจใช้ ไวโอลีน ออร์แกน  ซออู้ ฯลฯ บรรเลงเดี่ยวคลอเสียงร้องของผู้แสดง เดิมละครแบบปรีดาลัย มีการร่ายรำทำบท ภายหลังใช้ท่าทางธรรมชาติ บทร้องมีทั้งบทกิริยาอาการ ความคิดคำนึง และบทพูด บทที่เป็นคำพูดตัวละครจะร้องเอง มีลูกคู่ร้องรับส่วนที่เป็นทำนองเอื้อน บทที่เกี่ยวกับกิริยา หรือความคิดคำนึง มีนักร้องที่เป็นลูกคู่ร้องบรรยายทั้งหมด ตัวละครเจรจาโดยใช้ปฏิภาณ ส่วนมากมักเจรจาในความที่เป็นบทร้อง นิยมแสดงหลายเรื่อง เช่น สาวเครือฟ้า สาวิตรี ศกุนตลา ตุ๊กตายอดรัก ขวดแก้ว -เจียรไน จันทร์เจ้าขา ขนมผสมน้ำยา เครือณรงค์




ละครร้องสลับพูด เรื่อง ตุ๊กตายอดรัก


                ละครพูด  ละครพูดแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
๑.      ละครพูดล้วน ๆ
๒.      ละครพูดสลับลำ


(ยังไม่ได้ลงตัวอย่างที่เหมาะสม)
                 ละครพูดล้วน ๆ  เป็นละครที่มีแต่บทพูดไม่มีการขับร้อง แสดงเป็นฉาก ผูกเรื่องตามสมัยนิยม ผู้แสดงใช้ท่าทางแบบธรรมชาติ เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ผู้ริเริ่ม คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเป็นพระบรมโอรสาธิราช ทรงตั้งสโมสรขึ้นเรียกว่า ทวีปัญญาสโมสรหรือ สโมสรละครสมัครเล่นเพื่อฝึกหัดศิลปะต่าง ๆ ให้แก่มหาดเล็ก เช่น โขน ละคร และละครพูดแบบตะวันตก ได้รับความนิยมแพร่หลายมากที่สุดในสมัยรัชกาลที่ ๖ จนมาถึงปัจจุบัน ละครสมัยใหม่ที่แสดงบนเวที หรือโทรทัศน์ ก็เป็นลักษณะของละครพูดเช่นกัน  เดิมไม่มีการจัดฉาก แต่ภายหลังมีการจัดฉาก และเปลี่ยนฉากตามเนื้อเรื่องที่แสดง ยุคแรกใช้ผู้ชายแสดงล้วน ต่อมาใช้ชายจริง หญิงแท้แสดง  แต่งกายตามยุคสมัย และสภาพของตัวละครอย่างสมจริง เดิมไม่มีดนตรีประกอบ ต่อมาใช้วงดนตรีไทย และวงดนตรีสากลมาประกอบการแสดงในช่วงที่มีการเปลี่ยนฉาก เปิด ปิดม่าน และประกอบภาพ หรืออารมณ์ตัวละครบนเวทีโดยบรรเลงเบา ๆ เรียกว่า เพลงแบล็กกราวด์” (Blackground)  เรื่องที่ใช้แสดงมีหลายแบบหลายลักษณะ จึงมีชื่อเรียกที่ต่างกันตามลักษณะบทละคร หรือตามเนื้อหาเรื่องราวที่แสดง เช่น
            ละครพูดชวนหัว    ได้แก่เรื่อง ล่ามดี คดีสำคัญ
            ละครพูดชวนเศร้า   ได้แก่เรื่อง ต้อนรับลูก ฟอกไม่ขาว
            ละครพูดกินใจ     ได้แก่เรื่อง หมายน้ำบ่อหน้า
            ละครพูดปลุกใจ     ได้แก่เรื่อง หัวใจนักรบ (ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นยอดของบทละครพูด)
            ละครพูดคำฉันท์     ได้แก่เรื่อง มัทนพาทา
            ละครพูดคำกลอน     ได้แก่เรื่อง เวนิสวานิช
            ละครพูดล้วน ๆ      ได้แก่เรือง เห็นแก่ลูก โพงพาง
                    ละครพูดสลับลำ   คำว่า ลำมาจากคำว่า ลำนำหมายถึงบทร้อง ละครพูดสลับลำจึงเป็นละครที่มีทั้งการพูด และการร้อง แต่ยึดเอาการพูดเป็นสำคัญ บทร้องเป็นเพียงส่วนประกอบ จัดแสดงบนเวที มีการเปลี่ยนฉากตามเนื้อเรื่องที่แสดง เดิมใช้ผู้ชายแสดงล้วนตามแบบละครพูดล้วน ๆ ต่อมาใช้ชายจริงหญิงแท้แสดงร่วมกัน แต่งกายตามยุคสมัย และฐานะตัวละคร ใช้วงดนตรีทั้งวงปี่พาทย์ และวงดนตรีสากลมาประกอบการแสดง จึงบรรเลงประกอบการขับร้อง และประกอบฉากเหตุการณ์ อารมณ์ตัวละครเช่นเดียวกับละครพูดล้วน ๆ  เรื่องแรกคือเรื่องปล่อยแก่ ของนายบัว วิเศษกุล ต่อมารัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง ผิดใจได้ปลื้ม สำหรับแสดงละครประเภทนี้




ละครสังคีต เรื่อง วิวาห์พระสมุทร

                    ละครสังคีต  คือละครพูดสลับร้อง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้ริเริ่มขึ้น ทรงแตกต่างจากละครร้อง คือ ถือเอาทั้งบทร้อง และบทเจรจามีความสำคัญเท่ากัน ตัดส่วนใดส่วนหนึ่งออกไม่ได้แสดงบนเวทีมีการจัดฉาก และเปลี่ยนฉากตามเนื้อเรื่อง ผู้แสดงทั้งชาย และหญิง แต่งกายตามลักษณะ และสภาพของตัวละครในเรื่อง และตามเหตุการณ์ในเรื่องที่แสดง เดิมใช้วงปี่พาทย์ไม้นวม ใช้ขลุ่ยแท้ปี่ เพิ่มซออู้ ต่อมามีการนำเอาวงดนตรีสากลมาบรรเลงประกอบการแสดง เรื่องที่แสดงเป็นบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๖ เช่น เรื่อง วั่งตี่ วิวาห์พระสมุทร หนามยอกเอาหนามบ่ง และ มิกาโด
                ปัจจุบันละครไทยประเภทละครพูด ละครร้อง มัวิวัฒนาการตามแบบละครตะวันตกอย่างเต็มรูปแบบ

กิจกรรมนาฏศิลป์๓ ละครไทย
โขน
            การแสดงโขนสันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากการแสดง ๓ ประเภทของไทย คือ
           


. การแสดงกระบี่กระบอง หรือการต่อสู้ใช้อาวุธ การแสดงชุดนี้อาศัยศิลปะการต่อสู้ในเชิงกระบี่กระบอง พลอง และอาวุธอื่น ๆ เช่น ดาบ ไม้สั้น ดั้ง หอก ทวน  เป็นต้น โขนนำเอาลีลาการต่อสู้การหลบหลีกมาใช้ในการแสดงโขน โดยเฉพาะตอนยกรบ
            



. หนังใหญ่ โขนนำเอาลีลาการเต้นประกอบการเชิดหนังใหญ่  มาใช้ประกอบท่าเต้นของโขน นำเอาการพากย์การเจรจาของหนังใหญ่มาประกอบการพากย์การเจรจาของการแสดงโขน
          

. การเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ เป็นการแสดงในพิธีอินทราภิเษก โดยแบ่งผู้แสดงออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายอสูรกับฝ่ายเทวดา โขนนำรูปแบบการแต่งกายมาใช้ในการแสดงโขน
                               
       
      หากนำโขนไปเปรียบเทียบกับการแสดง "กถักฬิ" ของอินเดีย พบว่ามีรูปแบบที่เหมือนกันหลายด้าน จึงมีผู้สันนิษฐานว่าโขนไทยน่าจะได้รับอิทธิพลการแสดงกถักฬิของอินเดียมาบ้าง
           


            โขนนำเอาศิลปะการแสดงหลายแขนงมาปรับปรุง จึงมีวิวัฒนาการด้านการแสดง ดังนี้

โขนกลางแปลง คือการแสดงโขนในที่โล่ง บนพื้นสนาม เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ดำเนินเรื่องด้วยการพากย์ และเจรจา ใช้วงปี่พาทย์บรรเลงเพลงหน้าพาทย์ประกอบการแสดง ไม่มีการขับร้อง ในปัจจุบันมีการเพิ่มการขับร้องประกอบการแสดงจึงมีการแสดงท่ารำท่าเต้น ประกอบการตีบท หรือรำบท


ตัวอย่างโขนกลางแปลง

                       โขนโรงนอก หรือโขนนั่งราว หรือโขนนอนโรง นิยมแสดงตอนยกรบเช่นเดียวกับโขนกลางแปลงเพียงแต่ปลูกโรงหรือเวทีขึ้นมาสำหรับแสดง แต่เดิมกลางโรงโขนมีราวไม้ไผ่พาดตามความยาวของเวทีให้ผู้แสดงโขนนั่งบนราวไม้ไผ่ที่สมมติเป็นเตียง(จึงเรียกว่าโขนนั่งราว) ดำเนินเรื่องด้วยการพากย์เจรจา ปี่พาทย์บรรเลงเพลงหน้าพาทย์ประกอบการแสดง ไม่มีบทร้อง ก่อนวันแสดงจริงในช่วงบ่ายมีการบรรเลงวงปี่พาทย์โหมโรง และจับการแสดงเรื่องรามเกียรติ์ตอนพระรามหลงเข้าสวนพวาทองขององค์พระพิราพ ต่อสู้กับบริวารขององค์พระพิราพ บริวารองค์พระพิราพแพ้ พระรามพระลักษณ์ นางสีดา เดินผ่านสวนไปแล้ว องค์พระพิราพกลับจากหาอาหารทราบเรื่องจึงโกรธออกติดตามหาพระราม เมื่อแสดงถึงตอนนี้ก็เป็นเวลาเย็น นักแสดงโขนทุกคนต้องนอนค้างที่โรงโขนหนึ่งคืน จึงเรียกโขนประเภทนี้อีกอย่างว่าโขนนอนโรง





ตัวอย่างการแสดงโขนนั่งราว

                      โขนหน้าจอ เรียกตามการแสดงโขนที่นำเอาจอหนังใหญ่มาดัดแปลงเป็นฉากด้านหลังการแสดงโดยเจาะเป็นประตูทางเข้าออกของตัวโขนทั้งซ้าย และขวา  มีการวาดภาพปราสาทราชวังด้านซ้ายของจอ  ส่วนด้านขวาของจอวาดเป็นภาพที่ประทับชั่วคราวของฝ่ายพระราม เรียกว่าฝ่ายพลับพลา ตรงกลางจอเป็นผ้าขาวล้วน มีลักษณะโปร่งบาง วงปี่พาทย์ตั้งอยู่ด้านในฉาก เมื่อมีการนำเอาจอหนังใหญ่มาปรับปรุงอย่างนี้จึงเรียกโขนประเภทนี้ว่า โขนหน้าจอ





การแสดงโขนหน้าจอ

                      โขนโรงใน เป็นการแสดงผสมผสานกันระหว่างโขนกับละครใน จึงมีการแสดงทั้งท่าเต้นแบบโขน และท่ารำตามแบบละครใน มีการพากย์การเจรจาอย่างโขน เพิ่มบทร้องประกอบท่ารำที่อ่อนช้อยงดงามตามแบบละครใน บทขับร้องมีความไพเราะแบบละครในเป็นเพลงประกอบกิริยาอาการของตัวโขน




 ตัวอย่างการแสดงโขนฉากที่มีลีลารูปแบบตามแบบโขนโรงใน 

       โขนฉาก เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการสร้างฉากประกอบการแสดงโขน จึงแสดงบนเวทีเหมือนละครดึกดำบรรพ์ แสดงตามแบบโขนโรงใน คือมีทั้งท่าเต้น และท่ารำ มีการพากย์เจรจา การขับร้อง มีการบรรเลงปี่พาทย์ประกอบการแสดงทั้งที่เป็นเพลงหน้าพาทย์ และประกอบการขับร้อง มีการเปลี่ยนฉากไปตามเนื้อเรื่องและเหตุการณ์ที่แสดง 
        ปัจจุบันการแสดงโขนไม่ว่าจะเป็นโขนกลางแปลง โขนโรงนอก โขนหน้าจอ โขนฉาก จะยึดแบบแผนการแสดงเช่นเดียวกับโขนโรงใน นิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์ โดยตัดออกมาแสดงเป็นตอน ๆ เรียกว่า ชุดเช่น การแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ชุดนางลอย ขุดศึกนาคบาศก์ ชุดลักสีดา ฯลฯ เป็นต้น

การพากย์ และการเจรจาโขน
            ผู้แสดงโขนสวมหน้ากาก รับบทบาทเป็นตัวละครโดยเฉพาะผู้แสดงฝ่ายยักษ์ และลิง  ดังนั้นการแสดงโขนจึงต้องมีผู้พากย์ผู้เจรจาให้ การพากย์และเจรจา รวมทั้งบทพากย์และบทเจรจามีความแตกต่างกัน  บทพากย์แต่งเป็นคำประพันธ์ประเภทกาพย์ ใช้บรรยายเรื่องราวและเหตุการณ์ในเรื่องเมื่อพากย์จบหนึ่งบทต้องมีเสียงตะโพนตีรับ ตามด้วยเสียงกลองทัด และลูกคู่ร้องรับว่า “เพ้ย”  บทเจรจาแต่งเป็นคำประพันธ์ประเภทร่าย หากเจรจาแบบทำนองหรือแบบด้น ใช้ประกอบการบรรยายเหตุการณ์หรือเนื้อเรื่อง ถ้าตัวละครโต้ตอบกันเป็นการเจรจาแบบคำพูดหรือกระทู้   การพากย์ เจรจา นิยมใช้เสียงผู้ชายพากย์เจรจา  ผู้พากย์เจรจาต้องใช้อย่างน้อย ๒ คน





ความรู้เกี่ยวกับการพากย์เจรจาโขน ซึ่งการแสดงหนังใหญ่ก็มีลักษณะการพากย์เจรจาเช่นเดียวกัน

                        การแสดงโขนประกอบด้วยตัวละคร ๔ ประเภท คือ
           
ตังละครโขนประเภท พระ และ นาง
       . ตัวละครฝ่ายพระ ได้แก่พระราม พระลักษณ์ เทพชั้นสูง เช่น พระศิวะ            พระนารายณ์    พระพรหม ฯลฯ เทวดา หรือเทพบุตร ทั้งหลาย นิยมแต่งกายยืนเครื่องพระ แต่เดิมตัวละครฝ่ายพระ จะสวมหน้ากากเช่นเดียวกับฝ่ายยักษ์ และลิง ในปัจจุบันให้ถอดหน้ากากออก ใช้การแต่งหน้าให้งดงามแทน

       ๒. ตัวละครฝ่ายนาง ได้แก่นางสีดา เหล่านางฟ้า นางเทพอัปสรทั้งหลาย ไม่สวมหน้ากาก แต่งกายยืนเครื่องนาง

   



ตัวละครฝ่ายยักษ์ ในภาพคือทศกัณฐ์
                                                    ๓. ตัวละครฝ่ายยักษ์ ได้แก่ ทศกัณฐ์  ตัวละครที่เป็นยักษ์ ทั้งชาย และหญิง ฝ่ายหญิง  ได้แก่นางสูรปนขา (สำมะนักขา) นางกากนาสูร อากาศตะไล ฯลฯ ยักษ์ฝ่ายหญิงจะแต่งยืนเครื่องนาง ยักษ์ชายจะแต่งยืนเครื่องพระ
           
                                                    






ตัวละครฝ่ายลิง ในภาพคือหนุมาน

. ตัวละครฝ่ายลิง ได้แก่ บรรดาเสนาลิง สิบแปดมงกุฎ  ทหารเอกเช่น หนุมาน สุครีพ   เป็นต้น  แต่งกายยืนเครื่อง  เช่นกันแต่เสื้อที่สวมจะสมมติ     เป็นผิวกายของลิง ปักเป็นลาย       ทักษิณาวัตรสมมติว่าเป็นขน        ตามตัวลิง










หนังใหญ่


ภาพตัวละครที่แกะสลักบนหนังสัตว์

การแสดงหนังใหญ่

                      








                            

                        

         เป็นการละเล่นของหลวงในสมัยโบราณเป็นที่นิยมมากกว่ามหรสพอื่น ๆ ความเป็นมาของหนังใหญ่ไม่ปรากฏชัดเจน สันนิษฐานว่ามีมาก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะปรากฏหลักฐานว่าทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระมหาราชครูแต่งเรื่อง สมุทรโฆษชาดก คำฉันท์เพื่อเล่นหนังใหญ่ ลักษณะ ตัวหนังใหญ่สร้างจากหนังโค หรือหนังควาย ทำความสะอาดตากให้แห้งทำให้หนังมีความบางใส นำมาวาดลวดลายลงไป ประกอบด้วยตัวละคร และฉากที่เป็นลวดลายพื้นหลังตัวละคร จากนั้นฉลุลวดลายตามที่วาดไว้ ระบายสีให้สวยงาม โดยทั่วไปหนังใหญ่มีขนาดความสูงประมาณ ๑. ถึง ๒ เมตร กว้างประมาณ ๐.๕ เมตร ถึง ๑.๕ เมตร ใช้ไม้ไผ่ทาบสองข้างเพื่อไม่ให้ตัวหนังงอ เหลือด้านล่างไว้ให้คนเชิดหนังจับตัวหนังเชิดได้สะดวก ในการแสดงหนังใหญ่ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ  ผู้เชิดหนัง หรือคนเชิดหนังใช้ผู้ชายล้วน  มีจอหนังประกอบการแสดงเป็นผ้าขาวขลิบริมให้เรียบร้อย มีผู้ทำหน้าที่พากย์-เจรจา ซึ่งมีการพากย์-เจรจาตามแบบการแสดงโขน ใช้วงปี่พาทย์บรรเลงประกอบการแสดง นิยมให้มีการแสดงเบิกโรงชุดจับลิงหัวค่ำ ก่อนเริ่มแสดงเรื่องรามเกียรติ์ โดยจัดแสดงเป็นตอน ๆ เรียกว่า ชุดเช่นเดียวกับโขน




การเชิดหนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง

รายการคุณพระช่วยให้ความรู้เกี่ยวกับหนังใหญ่
แสดงการเชิดหนังใหญ่โดยใช้ดนตรีร่วมสมัยประกอบการแสดง
การแสดงหนังใหญ่โดยศิลปินกรมศิลปากร
เบิกโรงชุดจับลิงหัวค่ำ
หนังตะลุง



การเชิดหนังตะลุง


รายการคุณพระช่วยให้ความรู้เรื่องหนังตะลุง
และการเชิดหนังตะลุง

                   เป็นการละเล่นแบบเล่นเงา (Shadow play) เช่นเดียวกับหนังใหญ่ เป็นมหรสพที่นิยมเล่นทางภาคใต้ ตัวหนังทำจากหนังโค หรือหนังควาย เช่นเดียวกับหนังใหญ่ มีกรรมวิธีการทำเหมือนหนังใหญ่ มีขนาดความสูงประมาณ ๑ ฟุต  มีไม้ซีกทาบกึ่งกลางลำตัวของรูปตัวหนังเพื่อไม่ให้ตัวหนังงอ ตรงปลายเหลือเป็นด้านให้คนเชิดจับตัวหนังเชิด ที่แขนข้างใดหนึ่งเจาะตรงข้อศอกแล้วผูกให้ติดกัน ตรงข้อมือผูกไม้ไว้เวลาเชิดจึงสามารถเชิดให้แขนข้างนั้นขยับขึ้นลงได้ บางรูปอาจสามารถทำให้แขนเคลื่อนไหวได้ทั้งสองข้าง ตัวตลกมีลักษณะพิเศษคือมีเชือกผูกใต้คางเมื่อดึงเชือกก็ทำให้คางของตัวหนังขยับได้ การแสดงหนังตะลุงต้องประกอบด้วยผู้เชิดหนังตะลุงเรียกกันอีกกย่างว่า นายหนังมีฐานะเป็นเจ้าของคณะหนังตะลุงที่นำมาเล่น มีการปลูกโรงขึ้นมาสำหรับ ขึงจอผ้าขาวด้านหน้า นิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์บ้าง เรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ นิทานนิยายพื้นบ้าน ชาดกต่าง ๆ ปัจจุบันนายหนังแต่งเรื่องขึ้นมาเองสำหรับเล่นโดยนำเอาเรื่องราวเหตุการณ์ในปัจจุบันมาแต่งมีลักษณะเป็นเรื่องราวสมัยใหม่ หรืออาจนำเอา นวนิยาย มาเล่นบ้าง มีดนตรีพื้นบ้านประกอบการแสดง โดยทั่วไปนิยมแสดงในงานนักขัตฤกษ์ และงานทั่วไป หรือในงานศพ นิยมเบิกโรงด้วยชุดจับลิงหัวค่ำแบบหนังใหญ่

หุ่น
            เกิดขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน เข้าใจว่าน่ามีมาก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยสันนิษฐานจากจดหมายเหตุของลาลูแบร์ อัครราชทูต ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส มีการกล่าวถึงการเล่นหุ่นของสยาม จึงสันนิษฐานว่าน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การแสดงหุ่นไทยมีหลายประเภท เช่น

                   
หุ่นหลวง
หุ่นหลวง หรือหุ่นใหญ่
มีการเล่นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น มีขนาดเท่าคนจริง  ลำตัวทำด้วยไม้ มีลักษณะบางและเบา บริเวณเอวใช้หวายร้อยขดเป็นวงกลมซ้อนกันเพื่อให้ตัวหุ่นสามารถยักเอวได้เหมือนคนจริงรำ กลางลำตัวมีแกนไม้เป็นด้ามยาวลงมาสำหรับจับ มีสายหรือเชือกผูกโยงกับอวัยวะต่าง ๆของหุ่นสำหรับชักให้อวัยวะต่างๆ เคลื่อนไหว หุ่นหลวงเป็นหุ่นที่เกิดขึ้นในพระราชสำนัก ดังนั้นเรื่องที่นำมาแสดง จึงเป็นเรื่องสำหรับใช้แสดงละครใน เช่น อิเหนา รามเกียรติ์ อุณรุท  เนื่องจากหุ่นหลวงเป็นหุ่นที่มีขนาดใหญ่คล้ายคนจริง ประกอบกับแบบแผนการแสดงจะเชิดให้หุ่นแสดงท่าร่ายรำเหมือนกันคนจริงร่ายรำ จึงชักเชิดยากต้องใช้ผู้ที่มีความชำนาญได้รับการฝึกหัดมาอย่างดี ต่อมาภายหลังเมื่อเกิดหุ่นประเภทอื่น ๆ ที่ชักเชิดง่ายกว่า จึงทำให้ไม่มีการสืบทอดศิลปะการเชิดหุ่นหลวงไว้ ในปัจจุบันตัวหุ่นจึงถูกนำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
                  


หุ่นเล็ก

                    หุ่นเล็ก เป็นหุ่นที่กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ โปรดให้สร้างขึ้น มีขนาดสูงเพียง ๑ ฟุต มีลักษณะเหมือนกับหุ่นหลวงทุกอย่าง เพียงแต่มีขนาดเล็กกว่าวิธีการเชิดไม่แตกต่างกัน เรื่องที่นำมาแสดงส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่นำมาจากบทละครใน และบทละครนอก ที่นิยมแสดงคือเรื่องรามเกียรติ์ ปัจจุบันปรากฏให้เห็นในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
                  






หุ่นกระบอก
            หุ่นกระบอก คิดขึ้นโดย ม... เถาะ พยักฆเสนา โดยได้แนวคิดมาจาก หุ่นของนายเหน่ง ชาวบ้านในจังหวัดสุโขทัย มีความสูงประมาณ ๑ ฟุตกว่า ลำตัวเป็นแกนทำจากกระบอกไม้ไผ่ยาวประมาณ ๑ ฟุต คลุมด้วยผ้าที่ตัดเย็บเป็นถุงปล่อยชายยาวลงมา ตกแต่งให้สวยงามสมมติให้เป็นเสื้อของหุ่น มุมของก้นถุงที่สมมติเป็นเสื้อจะติดมือทั้งสองข้าง ใช้ไม้ไผ่ผูกติดไว้ภายในถุง สำหรับใช้จับเชิดให้มือของหุ่นเคลื่อนไหวได้ การเชิดหุ่นกระบอกหนึ่งตัว ใช้คนเชิด ๑ คน เชิดให้แสดงท่าร่ายรำแบบละครรำ มีการปลูกโรงสำหรับแสดง ลักษณะเหมือนกับโรงละครที่มีขนาดย่อส่วนลงมาให้เล็กลงเหมาะกับขนาดของตัวหุ่น หุ่นถูกเชิดให้ผู้ชมเห็นเพียงส่วนบนของตัวหุ่น ด้านล่างเป็นฉากกั้นไว้ไม่ให้ผู้ชมเห็นมือของผู้เชิด ผู้เชิดจะทำหน้าที่เจรจาประกอบการเชิด หุ่นกระบอกนิยมแสดงเรื่องพระอภัยมณี ของสุนทรภู่ ไม่นำเอาบทละครใน ๓ เรื่อง คือ อิเหนา รามเกียรติ์ และอุณรุท มาแสดง การแสดงมีเพลงที่ใช้ขับร้องประกอบการเล่าเรื่อง  คือ เพลงสังขารา หรือเพลงหุ่นกระบอก ใช้ซออู้เล่นคลอการร้อง จึงเป็นเพลงที่แสดงสัญลักษณ์ของการแสดงหุ่นกระบอก
                 



หุ่นละครเล็ก



















 หุ่นละครเล็ก  นายแกร ศัพท์วนิช เป็นผู้คิดสร้างขึ้น โดยให้มีขนาดความสูงเท่ากับหุ่นเล็ก  มีลักษณะเป็นหุ่นเต็มตัวเหมือนกับหุ่นเล็ก แต่แก้ไขวิธีการบังคับการเคลื่อนไหวอวัยวะหุ่นให้เชิดง่ายขึ้น โดยใช้ก้านไม้ผูกติดกับมือของหุ่นเช่นเดียวกับหุ่นกระบอก แทนการใช้เชือกโยงเพื่อชักเชิด ทำให้คนดูมองเห็นแกนไม้ที่เป็นส่วนลำตัวกับก้านไม้ที่ติดกับมือหุ่น การเชิดหุ่นละครเล็ก หุ่น ๑ ตัวใช้คนเชิด ๓ คน เชิดให้หุ่นแสดงท่าร่ายรำ เหมือนละครรำ และโขน เรื่องที่แสดงนำเอาบทละครทั้งที่เป็นบทละครใน และบทละครนอกมาแสดง 









                    ตัวอย่างการเชิดหุ่นกระบอกไทย











ตัวอย่างการเชิดหุ่นละครเล็กโจหลุยส์






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น