วันอาทิตย์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2557

ศิลปะการแสดง ๖

ละครตะวันตก
          ละครเป็นสิ่งที่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้น มีรูปแบบการเล่น หรือการแสดงที่มีลักษณะเป็นขั้นตอน กระบวนการ  (วิธีการ) เพื่อสื่อสารให้มนุษย์ด้วยกันเองรับรู้ เรื่องราวความเป็นไปที่เกี่ยวข้องกับ เทพเจ้า มนุษย์ สังคม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความเชื่อ ค่านิยม ฯลฯ โดยผ่านการแสดง หรือการกระทำของผู้แสดง ขณะเดียวกันก็สอดแทรกความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ให้แก่ผู้ชมไปด้วย
           
การแสดงละครในยุคแรก ๆ ไม่มีการเขียนบทพูด และการแสดงท่าทางไว้สำหรับนักแสดงท่องบทแสดงท่าทางตามบทละคร หรือให้ผู้กำกับการแสดงกำกับบทบาทให้ตัวละครเช่นปัจจุบัน นักแสดงต้องรู้เรื่องราวที่เล่นแล้วจินตนาการสร้างสรรค์แสดงบทบาทขึ้นเองไปตามความเข้าใจ โดยใช้ท่าทางและอารมณ์เป็นการสื่อสาร บางครั้งอาจมีการเขียนบทโดยย่อไว้ หรือไม่มีการเขียนบทไว้เลยก็ได้ ลักษณะเช่นนี้จึงเป็นรูปแบบการแสดงแบบด้นสด เมื่อการละครมีวิวัฒนาการขึ้นตามยุคสมัย ก็มีการเปลี่ยนแปลงโดยให้มีการเขียนบทละครขึ้นเพื่อช่วยให้นักแสดงและผู้กำกับการแสดง ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องกับการแสดงละครด้านอื่นๆ ได้เข้าใจเรื่องราว ต่าง ๆ ตลอดจนบทบาทตัวละคร แล้วสามารถสร้างสรรค์การละครได้สมจริงมากยิ่งขึ้น
          การแสดงละครที่เชื่อว่าเก่าแก่ที่สุดถือกำเนิดในประเทศอียิปต์โดยนำมาใช้ในการประกอบพิธีกรรมแสดงกลางแจ้ง ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคกรีก การละครยังมีความนิยมเช่นเดียวกับยุคอียิปต์ เพราะใช้การแสดงเป็นส่วนหนึ่งในการบูชาเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ คือเทพ ไดโอนิซัส (Dionysus) ใช้การขับร้องและการเต้นรำประกอบการแสดง และนิยมแสดงรูปแบบโศกนาฏกรรม (Tragedy) ต่อมาจึงพัฒนามาเป็นรูปแบบสุขนาฏกรรม (Comedy) เมื่อเข้าสู่ยุคโรมันได้มีการนำเอาละครของกรีกมาปรับปรุงโดยแสดงให้เห็นถึงฉากรบ การต่อสู้ การฆ่าสัตว์
          ในสมัยยุโรปกลางการละครยังคงได้อิทธิพลจากละครยุคกรีก แต่นิยมแสดงออกโดยใช้ท่าทางประกอบจึงมีลักษณะเป็นละครใบ้ (Pantomime) มีการนำเข้าไปเกี่ยวข้องกับศาสนานิยมแสดงในโบสถ์ในช่วงวันอีสเตอร์ และวันคริสต์มาส ในยุคนี้การละครถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสอนศาสนาเพื่อให้ประชาชนเข้าใจเรื่องราวในพระคัมภีร์มากขึ้นโดยมีบาทหลวงเป็นผู้รับบทบาทในการแสดง เมื่อเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ หรือยุคเรอเนซองส์ ละครเริ่มมีการนำเสนอเนื้อหาเรื่องราวที่แสดงให้เห็นถึงความโศกเศร้าและความสมหวังอยู่ในเรื่องเดียวกันจึงไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา  พอถึงงยุคโรแมนติกเนื้อหาเรื่องราวการต่อสู้ ภูตผีปีศาจ และมีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นการนำเสนอในรูปแบบละครที่มีเรื่องราวสมจริงที่เรียกว่าแนว Realism จนถึงปัจจุบันการละครมีการพัฒนามากขึ้น โดยมีการนำเอาศิลปะ และใช้วิธีการนำเสนอที่หลากหลายมากขึ้น มีการเพิ่มองค์ประกอบของการแสดงให้การละครดูสมจริงมากขึ้น เช่น การแต่งกาย ฉาก การใช้เทคนิคต่าง ๆ รวมทั้งมีการนำเอาเครื่องอิเล็กทรอนิกส์มาประกอบ รูปแบบการละครจึงมีการนำเสนอทั้งที่เป็นเรื่องราวและวิธีการนำเสนอทำให้การแสดงละครมีความหลากหลายมากขึ้น
                การศึกษาละครตะวันตกเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นจึงควรศึกษาให้เข้าใจทั้งรูปแบบ(Form) ซึ่งเป็นการศึกษาการละครในรูปแบบการนำเสนอเรื่องราว และศึกษาการละครที่ใช้วิธีการนำเสนอ(Style) ดังนี้
                ละครตะวันตกหากมีการนำเสนอในรูปแบบเนื้อหาเรื่องราว นิยมแบ่งออกเป็น ๓ ลักษณะ ดังนี้

 เรื่องราวโศกนาฏกรรม Tragedy   
เนื้อหาในรูปแบบนี้ถือเป็นวรรณกรรมการละครที่เก่าแก่ที่สุด มีคุณค่าสูงสุดในเชิงศิลปะและวรรณคดี ละครประเภทนี้ถือกำเนิดในประเทศกรีก มีกำเนิดมาจากการขับร้องเพลงสวดมี่เรียกว่า ดิธีแรมบ์ที่ชาวกรีกนิยมใช้ร้องบูชาเทพเจ้าไดโอไนซูส (Dionysus) เทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ในพิธีบวงสรวงทางศาสนา ละครแนว Tragedy มีการพัฒนาไปตามกาลเวลา ทำให้มีความแตกต่างกันไปตามรสนิยมและค่านิยมของแต่ละยุคสมัย แต่ยังคงลักษณะที่สำคัญที่ คือ
. เป็นเรื่องที่แสดงถึงความทุกข์ทรมานของมนุษย์ ให้จบลงด้วยความหายนะหรือความทุกข์ทรมานของตัวละครเอก
. ตัวละครเอกมีความยิ่งใหญ่ มีอำนาจอิทธิพลเหนือคนทั่วไป ขณะเดียวกันก็มีความบกพร่องหรือข้อผิดพลาดที่เป็นสาเหตุของการกระทำการใช้อำนาจอิทธิพล จนทำให้พบกับความหายนะ
.ฉากที่แสดงถึงความทุกข์ทรมานของตัวละคร มีผลทำให้ผู้ชมเกิดความสงสาร และเกิดความกลัว ซึ่งเป็นผลทำให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจในชีวิตมากขึ้น เกิดความรู้สึกสูงส่งด้านจิตใจเหมือนได้รับการชำระล้างจิตใจให้บริสุทธิ์
. ภาษาที่ใช้ในบทละครมักแสดงความเป็นเลิศในเชิงศิลปะด้านวรรณกรรม


วรรณกรรมเรื่อง โรมิโอและจูเลียตของวิลเลียม เช็คสเปียร์เป็นตัวอย่างละครแนวแทรจิดี้ ที่ดี



ตัวอย่างละครแนวโศกนาฏกรรมที่นำเสนอเรื่องราวสามัญชนแล้วเรียกว่าละครแนว DRAMA


อย่างไรก็ดีหายนะของตัวละครที่แสดงให้เห็นในTragedy นั้นต้องเกิดขึ้นตามกฎแห่งกรรมเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำและข้อผิดพลาดในลักษณะนิสัยของตัวละคร จะเกิดโดยบังเอิญหรือโดยอุบัติเหตุไม่ได้  เช่น ตัวละครเดินอยู่แล้วถูกรถวิ่งมาชน แม้จะน่าเศร้าสลดใจเพียงใดก็ไม่สามารถเป็น Tragedy ในแง่ของการละครได้  ความทุกข์ทรมานที่เกิดใน Tragedy ต้องมีเหตุมาจากการกระทำของตัวละครเองและเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามจริงในด้านการประพันธ์โดยมีการเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของความรู้สึกสงสาร ความกลัว ที่ผู้ชมควรได้รับจากการดูละครประเภท Tragedy จึงจะนำไปสู่ การชำระล้างจิตใจจนบริสุทธิ์โดยเกิดอารมณ์ร่วม คล้อยตาม สงสารเข้าใจ เห็นใจในความทรมานของตัวละคร จนนำตนเองไปเปรียบเทียบกับตัวละคร เมื่อเกิดความสงสาร ความกลัวขึ้น ก็จะใช้ปัญญามองหาสาเหตุแห่งการทรมานนั้น เมื่อพบก็เกิดความเข้าใจ อันเป็นแสงสว่างที่นำไปสู่การรู้ดีชั่ว สาเหตุแห่งทุกข์ สามารถตัดสินใจเลือกทางชีวิตที่ถูกต้อง ดังนั้นการตัดสินใจอย่างนี้ย่อมนำมาซึ่ง ความบริสุทธิ์ทางจิตใจอันเป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญของละครประเภทนี้
                เดิมสมัยกรีก นิยมให้ตัวละครเอกมีฐานะเป็นกษัตริย์หรือเทพเจ้า ที่เป็นผู้มีอิทธิพลและสร้างอำนาจ ปัจจุบันละครประเภทนี้มีลักษณะเป็นโศกนาฏกรรม ยุคใหม่ตัวละครที่เป็นใหญ่และมีอำนาจอิทธิพลถูกสร้างให้เป็นสามัญชนธรรมาที่มีความบกพร่องหรือสิ่งไม่ดีในตนเอง ใช้อิทธิพลและวิถีทางต่าง ๆ ให้ได้มาซึ่งชัยชนะตามที่ต้องการ สุดท้ายเมื่อไม่สมปรารถนา (tragic flaw) ก็พบกับหายนะในสิ่งที่ตนเองเป็นผู้ก่อ           
               ละครประเภทนี้มักมีโครงสร้างที่ผู้เขียนนิยมเขียนเรื่องให้เกิดการหักเหเรื่องไปมาตลอดเวลา มีการสร้างปมปัญหาใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อปมปัญหาเก่าเริ่มคลี่คลาย โดยจงใจให้ตัวละครประสบกับคลื่นของชะตากรรมที่ซัดเข้ามาหาตัวละครอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าตัวละครจะพยายามต่อสู้อุปสรรค แต่สุดท้ายก็ต้องได้รับผลของการกระทำของตนเองในที่สุด
            เรื่องราวสุขนาฏกรรม Comedy 
                  มีลักษณะตรงกันข้ามกับโศกนาฏกรรม โดยมีลักษณะเป็นละครประเภทตลกขบขัน ถือกำเนิดจากพิธีเฉลิมฉลองเทพเจ้าไดโอไนซูส ของกรีก เช่นเดียวกับละคร Tragedy แต่พัฒนามาจากการขับร้องเพลงเพื่อความสนุกสนานเฮฮา ของบรรดาผู้ติดตามขบวนแห่เทพเจ้าไดโอไนซูส ต่อมามีการพัฒนาจนกลายเป็นละครตลก ละคร Comedy ของกรีกนิยมแสดงให้เห็นความไม่สมบูรณ์แบบของมนุษย์ ความผิดพลาดในการกระทำ ข้อบกพร่องต่าง ๆ  ตลอดจนลักษณะที่น่าขบขันในตัวมนุษย์และเรื่องราว   เช่น เรื่องเกี่ยวกับการเมือง ปัญหาสงครามและสันติภาพ ทัศนะในแง่ต่าง ๆ การโจมตีเสียดสีตัวบุคคล หรือการกระทำของบุคคล จึงเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นใหม่ มากกว่านำเค้าโครงมาจากตำนานเหมือนละคร Tragedy  จึงมีลักษณะเป็นวรรณกรรมการละครที่ไม่มีความงดงามในแง่ภาษาและภาพที่ปรากฏบนเวที ให้ความสุขแก่ผู้ชมจากการหัวเราะฉากตลกต่าง ๆ และให้ตัวเอกพบกับความสมหวังในตอนจบของเรื่อง
               
ภาพยนตร์เรื่องมีสเตอร์ บีน เป็นแนวสุขนาฏกรรม
              
            ดังนั้นตัวละครที่สร้างขึ้นจึงมีเรื่องราว พฤติกรรมที่ทำให้คนดูหัวเราะมากกว่าร้องไห้ ละครแนวนี้จึงมีการสร้างขึ้นต่างรูปแบบโดยวางโครงเรื่องที่ต่างกันไป เช่น วางโครงเรื่องให้ดูสนุกสนานตลกขบขันจากสถานการณ์ (Situation Comedy) ให้มีสถานการณ์บางอย่างเกิดขึ้นทำให้ตัวละครไม่ทันตั้งตัวจนไม่สามารถควบคุมได้เป็นเหตุให้นำไปสู่เหตุการณ์ หรือเรื่องต่าง ๆที่ยุ่งวุ่นวาย มีการแก้ปัญหาในสิ่งที่เราไม่เคยทำนิยมเรียกกันว่า ละครแนว “ชิทคอม”(sit-com)  ขณะเดียวกันก็มีละครสุขนาฏกรรมที่เรียกว่า Comedy of Manners เป็นการเสียดสีพฤติกรรมการกระทำของมนุษย์ที่มักมีความเพี้ยนเลอะเทอะแต่ชอบตกแต่งกิริยามารยาทให้เป็นผู้ดี รวมทั้งละครแบบ Farce ที่มีลักษณะเป็นละครตลกตีหัวทำให้ตัวละครมีท่าทางการเคลื่อนไหวที่ตลกน่าขัน หรือให้วิ่งหนีสิ่งที่น่ากลัวจนดูตลกสับสนอลหม่านวุ่นวาย เป็นการแสดงให้เห็นความบกพร่องของมนุษย์อีกรูปแบบหนึ่ง
                เรื่องราว รัก โศก เคล้าสนุก Melodrama 
              เป็นประเภทละครเริงรมย์ ที่นักธุรกิจด้านความบันเทิงทั่วโลกสร้างขึ้นเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าเป็นสำคัญ ได้รับการเผยแพร่มากที่สุด และมีอิทธิพลสูงสุดต่อผู้ชมทั่วไป เพราะดูง่าย ติดตามง่าย มีระดับอารมณ์ และความคิดไม่ซับซ้อน ทำให้เข้าใจง่าย ผู้ชมไม่ต้องอาศัยพื้นฐานความเข้าใจทางศิลปะและวรรณกรรม หรือมีการศึกษาในระดับสูงเพื่อเข้าถึงละครประเภทนี้ ดังนั้นสื่อจำนวนมาก เช่น วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ จึงมักเลือกนำเสนอละครแนวนี้ มากกว่าละครแนวอื่น
             Melodrama เป็นละครเร้าอารมณ์เขียนขึ้นเพื่อให้ถูกใจตลาดผู้ชม จึงมุ่งให้ความบันเทิงด้วยการสร้างเรื่องให้ดำเนินไปอย่างตื่นเต้นโลดโผน ไม่คำนึงถึงเหตุผลมากนัก ตัวละครจึงมีลักษณะนิสัยเฉพาะ (Typed Character ) คือ
            พระเอก มีคุณสมบัติเป็นพระเอกตามแบบฉบับ คือ รูปหล่อ นิสัยดี กล้าหาญ มีเสน่ห์ ต่อสู้เพื่ออุดมคติ และซื่อสัตย์สุจริต
            นางเอก ต้องดีพร้อมทุกประการ ตลอดจนมีความงามเป็นเลิศ
            ผู้ร้าย และนางร้าย ต้องร้ายอย่างหาความดีไม่ได้ ทั้งฉลาดทั้งโกง น่าเกลียดน่าชัง ทำความเดือดร้อนให้พระเอกนางเอก แต่ในที่สุดความดีก็ชนะความชั่ว ผู้ร้ายแม้ว่าจะเก่งกาจสามารถเพียงใด ก็ต้องพ่ายแพ้พระเอกในที่สุด
           
ละครโทรทัศน์เรื่อง แรมพิศวาส เป็นละครแนวรัก โศก เคล้าสนุก
        
           ลักษณะดังกล่าวนี้เองทำให้นักวิจารณ์ และนักศึกษาการละครให้ความเห็นว่า Melodrama เป็นเพียงละครเริงรมย์ที่ไม่ค่อยมีคุณค่าทางด้านศิลปะและวรรณคดีนัก แต่  Melodrama ก็ถือได้ว่าเป็นละครที่มีคุณค่าด้านการบันเทิง แม้บทละครจะไม่ใช่วรรณคดีชั้นสูง ทั้งนี้ละครจะดีหรือไม่อย่างไรขึ้นอยู่กับวิธีการเขียนบทละครของผู้เขียนบท และวิธีการนำเสนอรูปแบบละครเท่านั้น ในปัจจุบันละครประเภทนี้ยังคงได้รับความนิยมจากผู้ชมและเป็นละครที่ได้รับสมญานามว่า “ละครน้ำเน่า”
            ต่อมารูปแบบละครตะวันตกได้มีการพัฒนาให้มีวิธีการนำเสนอภาพของการแสดงที่หลากหลาย เช่น
                แนวสัจจนิยม หรือธรรมชาตินิยม (Realism/Naturalism)   เป็นการนำเสนอภาพละครให้ออกมาตามความเป็นจริงไม่เสริมแต่งหรือบิดเบือน เพื่อให้มีลักษณะเป็นจริงตามธรรมชาติไม่ต้องการการดัดแปลง จึงมุ่งเน้นให้เห็นถึงสภาพปัญหาหริสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริงแทนเรื่องราวที่ฟุ้งเฟ้อไร้สาระ เพราะมีจุดหมายให้ละครเป็นเหมือนภาพชีวิต (Slide of Life) ผู้บุกเบิกละครแนวนี้เป็นนักประพันธ์ชาวนอร์เวย์ คือ Ibsen ต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งละครสมัยใหม่”
                อย่างไรก็ตามได้มีวิธีการนำเสนอละครตะวันตกที่ต้องการต่อต้านแนวสัจจนิยมหรือธรรมชาตินิยมโดยมองว่าการนำเสนอละครอย่างตรงไปตรงมาทำให้ดูขาดความเป็นศิลปะ ขาดจินตนาการจึงเกิดละครแนวต่อต้านสัจจนิยมหรือธรรมชาตินิยมขึ้น ได้แก่
                แบบ Symbolism   เป็นละครแนวสัญลักษณ์นิยม ใช้สัญลักษณ์ในการนำเสนอความเป็นจริงแทนการนำภาพที่เหมือนจริงมาแสดง มีความเชื่อว่า ธรรมชาติ และการกระทำของมนุษย์มีอยู่มากที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผล และประสบการณ์บางอย่างในชีวิตมนุษย์ก็เป็นสิ่งลึกลับซับซ้อนเกินกว่าที่จะเข้าใจได้  การที่จะอธิบายถึงปัญหาชีวิตอย่างชัดเจน หรือใช้ถ้อยคำสำนวนที่สมเหตุผลบางครั้งก็ไม่อาจทำได้ นักเขียนบทละครประเภท Symbolism จึงใช้วิธี แนะให้ผู้ชมใช้จินตนาการแสวงหาความจริงด้วยตนเอง โดยใช้สัญลักษณ์ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง ฉาก ตัวละคร การกระทำ และบทเจรจา เป็นสื่อนำผู้ชมไปสู่ความเข้าใจ เรื่องราว หรือข้อคิดเกี่ยวกับชีวิตหรือมนุษย์ที่ละครต้องการนำเสนอ Symbolism จึงคัดค้านการสร้างฉากที่เหมือนจริงการเน้นรายละเอียด การให้ข้อปลีกย่อยเกี่ยวกับกาลเวลา สถานที่ ที่มากเกินไป นิยมใช้ฉาก เครื่องแต่งกายที่เป็นกลาง ไม่เจาะจงว่าเป็นยุคใดสมัยใด เน้นการสร้างอารมณ์ บรรยากาศ ทำให้ฉาก แสง สี เครื่องแต่งกาย เป็นส่วนหนึ่งของ สัญลักษณ์ที่ให้ความหมายเรื่องราวที่แสดง
                แบบ Romantism   เป็นการนำเสนอละครที่ต้องการสะท้อนความฝัน จินตนาการ และอุดมคติของเรื่องราว ดังนั้นตัวละครจึงมีความดีงาม กล้าหาญ มีลักษณะเป็นวีรบุรุษ วีรสตรี ลักษณะของบทละครจึงนิยมใช้ภาษาที่มีลักษณะเป็นบทกลอนที่ไพเราะ
                แบบ Expressionism    มุ่งหมายที่นำความจริงในจิตใต้สำนึก หรือในจินตนาการของตัวละครออกมาแสดงให้เห็น จึงนำเสนอภาพจากวิสัยทัศน์ส่วนตัวโดยแสดงออกมาเป็นคำพูด การกระทำ ความรู้สึก ภาวะจิตใจและอารมณ์ที่รุนแรง บางครั้งคำพูดตัวละครอาจไม่ต่อเนื่องขาดตอนเป็นช่วง ๆ ภาพที่นำเสนอบิดเบือน ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง ห่างไกลจากชีวิต และความเป็นจริงที่เห็นในชีวิตประจำวัน  จุดประสงค์ที่นำเสนอในลักษณะนี้เพราะมีแนวคิดว่า โลกมนุษย์ถูกบีบคั้นและกดดันโดยมนุษย์เอง เป็นผลจากสังคมอุตสาหกรรม และความเป็นวิทยาศาสตร์ในยุคใหม่ ผลของค่านิยมที่มนุษย์ได้รับจึงทำให้มนุษย์เหมือนหุ่นยนต์ การนำเสนอภาพของละครจึงพยายามเสนอภาพที่สะท้อนความรู้สึกภายในตัวละคร โดยเน้นรูปลักษณ์ สีสัน ขนาด ที่ผิดปกติ หรืออาจใช้สัญลักษณ์ที่แปลกประหลาด ทำให้ผู้ชมตกใจ ใช้เสียงหลอกหลอน เขย่าประสาท การกระทำที่รุนแรง สี เส้น รูปทรง ของภาพที่นำเสนอมีลักษณะสะเทือนอารมณ์ การนำเสนอภาพจึงไม่มีแบบแผนตายตัว ขึ้นอยู่กับผู้แต่งเรื่องราวจะตีความหมายของชีวิต และต้องการนำเสนอภาพออกมาอย่างไร
                แบบ Epic    เป็นละครมหากาพย์ ผู้นำ Epic มานำเสนอคือ เบอร์ทอลท์ เบรซท์ (Bertolt Brecht) ชาวเยอรมัน เป็นการนำเสนอโดยนำเอาตำนาน นิทาน มหากาพย์ (Epic) ที่เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ห่างไกลจากตัวผู้ชมมานาน  โดยไม่ต้องการให้ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมกับการดูละครมากเกินไป ให้รู้ตัวเองอยู่เสมอว่ากำลังชมละครอยู่ในโรงละคร เพื่อให้คนดูรู้สึกถอยห่างจากละครที่กำลังดูอยู่ การแสดงจึงมีทั้งรูปแบบที่มีนาฏศิลป์ผสมผสาน เป็นละครพูด มีการร้องเพลง ดนตรี มีการบรรยายเรื่อง เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมมีลักษณะ ตื่นไม่คล้อยตามภาพการแสดงมากเกินไป ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้ร่วมคิดในปัญหาต่าง ๆ จากภาพการแสดง จึงมีการนำเสนอภาพของปัญหา อาจเป็นปัญหาการเมือง สังคม ปรัชญา จริยธรรม ศีลธรรม  ที่แฝงอยู่ในเรื่องราว ทำให้กระตุ้นผู้ชมได้แนวคิดสามารถนำไปใช้ในสังคมได้ ละครประเภทนี้จึงถูกเรียกว่าเป็น ละครเพื่อสังคมประเภทหนึ่ง
                แบบ Absurd   เป็นละครที่ต่อต้านละครRealism และ ละครEpic เพื่อเสนอข้อคิดให้คนดู เพราะ Absurd มองว่าวิธีการนำเสนออย่างนั้นใช้การไม่ได้  Absurd หมายถึงความเหลวไหลไร้สาระ เป็นการมองชีวิตว่าไม่มีเหตุผล และความหมาย เชื่อว่าทุกสิ่งไม่มีความหมายในตัวเอง มนุษย์เป็นผู้นำเอาความหมายไปใส่ไว้ จึงมีการดำเนินเรื่องที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของเหตุและผล เน้นการขัดจังหวะไม่ประสานกันของเรื่องราว และการแสดง เช่นให้ตัวละครนั่งอยู่ด้วยกันแต่ไม่พูดกันหรือพูดไม่เข้าใจกัน หรือสื่อสารกันไม่ได้ เป็นต้น การสร้างความขัดแย้งไม่ประสานกัน อาจพบเห็นในรูปแบบ การสร้างฉาก ความสัมพันธ์ของตัวละคร การแต่งกายผู้ชมละครแนวนี้ต้องไม่ชมเพื่อเข้าใจเรื่องราว แต่ต้องทำความเข้าใจและตีความจากภาพที่มองเห็นในแต่ละฉากเท่านั้น

            แม้ว่าการนำเสนอละครตะวันตกจะมีรูปแบบการนำเสนอที่แตกต่างกันออกไป แต่จุดประสงค์ที่ตรงกันของผู้นำเสนอ และเขียนบทละคร คือเมื่อผู้ชมชมการแสดงแล้วจะได้รับแนวคิดในด้านต่าง ๆ จากการชมการแสดง แนวคิดต่าง ๆ เหล่านี้ จะเป็นสิ่งที่เป็นคุณค่าต่อตัวผู้ชม ต่อสังคม มีอิทธิพลต่อผู้ชมในหลาย ๆ ด้าน ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อชมการแสดงแล้ว ผู้ชมเข้าใจ และได้รับคุณค่าจากการชมการวิเคราะห์ตีความหมายจากสิ่งที่รับรู้จากการนำเสนอมากน้อยอย่างไร และสามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว สังคม ประเทศชาติได้ดี มากน้อยอย่างไร

เทคนิคการจัดการแสดง

                การจัดการแสดงไม่ว่าจะเป็นการแสดงที่เป็นเรื่องราว หรือไม่เป็นเรื่องราว สิ่งที่เป็นองค์ประกอบร่วมที่จะทำให้มีความประทับใจผู้ชม มีความสมจริงของเหตุการณ์ ต้องอาศัยองค์ประกอบการสร้างงานการแสดงที่เป็นการจัดฉาก การใช้เทคนิคแสง สี เสียง ตลอดจนการออกแบบเครื่องแต่งกาย การแต่งหน้า ทำผม องค์ประกอบเหล่านี้จัดเป็นองค์ประกอบที่มีส่วนทำให้การแสดงสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังนั้นในการเรียนรู้เกี่ยวกับการแสดงจึงควรเรียนรู้เกี่ยวกับองค์ประกอบเหล่านี้ให้เข้าใจ เพื่อสามารถนำไปใช้กับกิจกรรมด้านการแสดงได้เหมาะสม

ฉาก (Scenery)
          การแสดงละครแม้มีเนื้อหาเรื่องราวที่ดี แต่ในการสร้างงานละครหากฉากที่ใช้ประกอบการแสดงดีก็จะช่วยให้การแสดงมีความสมจริงมากขึ้น การชมละครของผู้ชมก็จะได้อรรถรสจากการแสดงยิ่งขึ้นเช่นกัน การสร้างฉากละครนอกจากทำให้ผู้ชมเข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในละครแล้ว ฉากยังช่วยให้ภาพบนเวทีมีความงดงาม
                การสร้างฉากประกอบการแสดงของไทยเริ่มมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ และได้มีพัฒนาการมาโดยตลอด ในช่วงแรกฉากที่ใช้ประกอบการแสดงของไทยนิยมอยู่ ๒ ลักษณะ คือ ฉากแบบแขวน และฉากแบบตั้ง การสร้างฉากต้องคำนึงถึงความสอดคล้อง ของเนื้อหาเรื่องราว เพื่อให้ละครดูโดเด่น และสมจริงได้
                หน้าที่หลักที่สำคัญของฉากคือ เป็นสภาพแวดล้อมของตัวละคร และเป็นสถานที่สำหรับการแสดงซึ่งมีการออกแบบเพื่อเน้นให้เห็นถึงการกระทำ พฤติกรรม ตลอดจนความขัดแย้งของตัวละคร ฉากยังช่วยบอกสถานที่ของการแสดงละคร เวลาที่ชัดเจน ยุคสมัย ฤดูกาล การเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา
                การออกแบบฉากที่ดีจึงช่วยสร้างสีสันชีวิตชีวาให้แก่การผลิตการแสดง ช่วยให้การละครเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นเร้าใจแก่ผู้ชม เสื้อผ้านักแสดงจะดูดียิ่งขึ้นและดูเหมาะสมกับแบ็กกราวนด์เบื้องหลัง การเลือกใช้เครื่องประดับฉากช่วยให้ฉากและนักแสดงดูมีความสมบูรณ์และถูกต้องด้วยความหมาย และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (กฤษรา (ซูไรมาน):๒๕๕๑)

                รูปแบบฉาก

                คือลักษณะโครงสร้างด้านหน้าของฉาก ที่มีหลายส่วนประกอบกันเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นสถานที่ให้ตัวละคร รวมทั้งเป็นแบ็กกราวนด์ด้านหลังตัวละครที่อยู่บนเวที รูปแบบฉากจึงสามารถสื่อสถานที่และเหตุการณ์ต่าง ๆ ในฉากได้ชัดเจน จึงแบ่งออกได้ ๓ รูปแบบ คือ
                ๑. รูปแบบฉากภายใน (interior setting) จะแสดงให้เห็นถึงสถานที่ที่เป็นภายในอาคารสถานที่ต่าง ๆ  เช่น ภายในที่พักอาศัย ในรถประจำทาง ในเรือ ฯลฯ
                ๒. รูปแบบฉากภายนอก (exterior setting) แสดงให้เห็นภายนอกสถานที่ต่าง ๆ เช่น สวนหน้าบ้าน ในป่า รั้วหน้าบ้าน ฯลฯ
                ๓. รูปแบบผสมฉากภายในกับฉากภายนอก (combination of interior and exterior setting)  แสดงให้เห็นภายใน และภายนอกสถานที่ไปพร้อมกัน จะอาศัยการออกแบบแสงประกอบฉากให้สว่างเน้นจุดที่ต้องการให้เห็น หรืออาจแสดงให้เห็นทั้งภายในและภายนอกพร้อมกันก็จะมีการเปิดแสงประกอบให้เห็นรูปแบบฉากทั้งหมดเพื่อให้เห็นฉากโดยภาพรวมทั้งภายในภายนอกพร้อมกัน

                สไตล์ (style)ของฉาก

                เป็นแนวคิดในการออกแบบฉากให้มีลักษณะที่ต่างกันไปขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะเนื้อหาเรื่องราว หรือแนวในการนำเสนอละคร ซึ่งหากศึกษา สไตล์ของฉากจะพบว่ามีหลายสไตล์ ทั้งนี้เราจะศึกษาพอเป็นกรอบความรู้โดยกว้าง ได้แก่
          ๑. ฉากธรรมดา หรือพื้นฐาน (Naturalistic setting) เป็นฉากที่ออกแบบให้ภาพบนเวทีมีลักษณะบรรยากาศให้เหมือนจริงและเป็นธรรมชาติที่สุดโดยอาศัยโครงสร้างที่เป็นงานสถาปัตยกรรมเข้าร่วมและเพิ่มองค์ประกอบรายละเอียดต่าง ๆ ของฉาก บางครั้งภาพจึงมีลักษณะแบนราบขาดความเป็นมิติ การออกแบบง่ายนิยมใช้ฉากหลังเป็นสีพื้น หากใช้พื้นหลังเป็นสีดำเรียกว่า “คามิโอ” (cameo) จะใช้ไฟสปอตไลท์ประกอบเพราะสามารถควบคุมทิศทางของแสงและการกระจายแสงได้ดี หากใช้สีพื้นหลังเป็นสีอื่น เช่น แดง ฟ้า เขียว ฯลฯ เรียกว่า “ลิมโบ” (Limbo) จะใช้ไฟฟลัดไลท์ (Flood light) เพราะให้แสงที่มีการกระจายสม่ำเสมอ   

                ๒. ฉากเหมือนจริง (realistic setting) เป็นการออกแบบฉากที่เน้นความเหมือนจริงตามธรรมชาติมากที่สุด ๘๐-๙๐ % การออกแบบจะอยู่บนรากฐานการเลียนแบบธรรมชาติของธรรมชาติโดยรักษารายละเอียดต่าง ๆ ของฉากอย่างพิถีพิถันและให้เหมาะสมลงตัวสมบูรณ์ที่สุดมีส่วนประกอบของงานสถาปัตยกรรมที่ครบถ้วนสมบูรณ์ไม่ว่าจะเป็น ประตู หน้าต่าง กำแพง เพดานห้อง ฯลฯ และต้องตรงตามยุคสมัย สิ่งแวดล้อม เหตุการณ์ในเรื่อง เพราะต้องการความสมเหตุสมผลความถูกต้องเหมาะสมที่สุด

                ๓.  ฉากไม่เหมือนจริง (nonrealistic setting) เป็นการออกแบบฉากที่สร้างบรรยากาศ หรือความคิดออกมาโดยให้ภาพมีลักษณะออกห่างจากความเป็นจริง จึงมีลักษณะเป็นนามธรรม เพื่อถ่ายทอดความหมายและอารมณ์ให้มีลักษณะเหนือความเป็นจริงและเป็นสไตล์ต่อต้านธรรมเนียมความเหมือนจริง แม้จะใช้โครงสร้างของวัตถุต่าง ๆ ที่เหมือนจริงแต่การใช้สีสัน ลายเส้น ภาพ และวัสดุจะเกินความเป็นจริง

                การออกแบบฉาก

                การสร้างฉากผู้สร้างฉากต้องมีความรู้ความเข้าใจในการอ่านงานออกแบบฉากที่คล้ายกับงานออกแบบก่อสร้าง แต่งานฉากจะเน้นความประณีตละเอียดในส่วนที่ผู้ชมมองเห็น การออกแบบฉากจึงมีส่วนสำคัญผู้ออกแบบฉากต้องศึกษาบทละครให้ละเอียดเพื่อให้เข้าใจและจินตนาการออกแบบฉากให้เหมาะสมกับเรื่องราว เหตุการณ์ และการนำเสนอละคร การออกแบบฉากแบ่งออกเป็น ๖ ลักษณะ ดังนี้ (บุญศิริ :๒๕๕๓)

                ๑. ฉากแบบบังคับ เป็นการสร้างฉากเพียงฉากเดียว ใช้แสดงได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าละครเรื่องนั้นจะเกิดขึ้นที่ใด ฉากเป็นเพียงเครื่องแบ่งเขตส่วนเวทีกับหลังโรง มีกำเนิดมาจากฉากละครโรมัน

                ๒. ฉากแบบสมจริง เป็นฉากละครที่สร้างขึ้นตามความเป็นจริงตรงกับยุคสมัย และเหตุการณ์ตามท้องเรื่องเหมือนจริงมากที่สุด เช่น ฉากละครของโรงละครแห่งชาติ เป็นต้น

                ๓. ฉากบรรยากาศ เป็นการสร้างฉากเพื่อความสะดวกในการแสดง มีการสร้างเพียงฉากเดียว อาศัย แสง สี สร้างบรรยากาศของท้องเรื่อง

                ๔. ฉากแบบสัญลักษณ์ เป็นการสร้างฉากแบบประหยัด มีจุดประสงค์ให้ผู้ชมสร้างจินตนาการประกอบกับการชมละคร ในฉากอาจจะมีเพียงบางสิ่งบางอย่าง เช่น ฉากทะเลทรายก็จะสร้างเพียงต้นตะบองเพชร หรือฉากชนบทก็มีกองฟาง เป็นต้น ฉากแบบนี้เหมาะสมแก่การแสดงโมเดิร์นด๊านซ์ (Modern dance)

                ๕. ฉากแบบนามธรรม เป็นการสร้างฉากจากความรู้สึก หรือความประทับใจ โดยจะสร้างฉากเกินความจริงที่ไม่เคยมีผู้ใดเคยพบเห็นมาก่อน

                ๖. ฉากแบบจินตนาการ เป็นการสร้างฉากขึ้นจากจินตนาการของท้องเรื่อง ต้นไม้ ภูเขา ปราสาท สวรรค์ นรก ที่เกิดจากจินตนาการไม่เหมือนของจริง แต่ผู้ชมสามารถรับรู้และเข้าใจได้

                การใช้สีในการออกแบบฉาก

                ๑. ไม่ใช้สีขาวจัด หรือดำสนิท เพราะกล้องถ่ายภาพไม่สามารถทำงานกับสีที่มีความสว่างสูงมาก หรือต่ำมากได้ดี

                ๒. ไม่ใช้สีอ่อนเกินไป หรือสีเข้มเกินไป เพราะสีอ่อนเมื่อโดนแสงจะกลืนไปกับสีขาว สีเข้มจะถูกดูดกลืนจากสีดำได้

                ๓. ไม่ใช้สีสะท้อนแสงบนฉาก หรือเครื่องประกอบฉาก ทำให้การวัดแสงเพื่อออกแบบแสงประกอบกอบฉากของกล้องวัดแสงจะวัดแสงโดยอัตโนมัติไปที่สีสะท้อน

                ๔. ระวังแสงสะท้อนที่เกิดจากวัสดุประกอบฉาก เมื่อโดนแสงไฟที่ส่องไปบนเวทีอาจสะท้อนโดนนักแสดง หรือวัสดุอื่น ๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนสีบนใบหน้า เครื่องแต่งกาย และสีวัสดุผิดเพี้ยนไป

                ฉากควรชี้นำสไตล์และรูปแบบการผลิตละครเรื่องนั้น ๆ และควรทำหน้าที่สร้างสรรค์บรรยากาศอารมณ์ และสีสันของละครทั้งเรื่อง จึงควรมีการสร้างและออกแบบที่ดีเหมาะสม เพราะปฎิกิริยาตอบโต้ของผู้ชมต่อตัวละครและบทละครสามารถเกิดขึ้นได้จากการสื่อนำด้วยฉาก ฉากจึงต้องสร้างขึ้นจากความต้องการและความตั้งใจของผู้เขียนบทละครและจากการตีความของผู้กำกับการแสดงด้วย รวมทั้งฉากควรเอื้ออำนวยต่อการแสดงและนักแสดงด้วยไม่ข่มตัวละคร ไม่เป็นอุปสรรคต่อการวางตำแหน่งตัวละครบนเวที ไม่ดึงความสนใจของผู้ชมไปจากตัวละครและการแสดง
                การออกแบบฉากที่ดีจะช่วยสร้างสีสัน ชีวิตชีวาให้การผลิตการแสดง ทำให้ละครเป็นประสบการณ์ที่ตื่นเต้นเร้าใจสำหรับผู้ชม เสริมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และการแสดงให้ดียิ่งขึ้น
  
แสง (Light)

                ในการจัดการแสดงการจัดแสงประกอบเป็นส่วนสำคัญอีกองค์ประกอบหนึ่ง เพราะมีความสำคัญต่องานฉาก และการแสดงบนเวที ผู้ปฏิบัติงานบนเวทีไม่ว่าจะถือเป็นงานสมัครเล่น ก็ควรมีความรู้ความเข้าใจในงานด้านนี้บ้าง
               
 ประโยชน์ของการจัดแสงบนเวที

                ๑. แสงบนเวทีช่วยให้ภาพที่ปรากฏบนเวทีมองเห็นได้ชัดเจน ทำให้ผู้ชมสามารถมองเห็นการเคลื่อนไหว การแสดงบทบาท และอารมณ์ของตัวละครได้ชัดเจน  ทำให้ผู้ชมเข้าใจในบทบาทพฤติกรรมการแสดงของตัวละคร เข้าใจเหตุการณ์ในเรื่อง มองเห็นความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนเวที  ภาพเหตุการณ์ ที่ปรากฏขึ้น จึงทำให้ผู้ชมเข้าใจ ประทับใจภาพที่ปรากฏบนเวที และเกิดความรู้สึกคล้อยตามกับบทบาทตัวละคร และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้

                ๒. บางครั้งในการสร้างฉากและอุปกรณ์ประกอบฉากอาจมีจุดด้อยปรากฏให้เห็นการใช้แสงประกอบสามารถช่วยแก้ไขความบกพร่องของงานฉากและอุปกรณ์บนเวทีให้ดูสมบูรณ์ขึ้น หรือช่วยลดความบกพร่องลงได้  ขณะเดียวกันการจัดแสงบนเวทีสามารถออกแบบได้เหมาะสมจะช่วยให้ภาพบนเวทีเกิดความโดดเด่น สวยงาม  เกิดความสมดุลของฉาก และการแสดง  ดังนั้นการใช้เทคนิคแสงบนเวที ผู้ออกแบบแสงต้องมีความเข้าใจในการนำสีเข้ามาประกอบ  ตลอดจนเข้าใจวางจุดของแสงให้เหมาะสมด้วยเพื่อความสมบูรณ์ของงานการแสดงให้งดงามเหมาะสมมากขึ้น

                ๓. การจัดแสงที่เหมาะสม และเลือกใช้องค์ประกอบสีที่ถูกต้องจะช่วยทำให้วัตถุต่าง ๆ  บนเวทีที่ใช้เป็นองค์ประกอบของฉากมีความเป็นมิติดูสมจริงมากขึ้น รวมทั้งสามารถสร้างบรรยากาศของฉากและเหตุการณ์ในฉากให้ดูกลมกลืนสมจริงยิ่งขึ้น ช่วยกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกและมีอารมณ์คล้อยตามไปกับบรรยากาศ เหตุการณ์ เรื่องราว และการดำเนินการแสดง เข้าใจในบรรยากาศ การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของเรื่องราวที่ชม  มีจินตนาการร่วมในการแสดง เสริมให้ผู้ชมได้รับทั้งสุนทรียภาพ และสุนทรียะรสจากการชมการแสดงมากยิ่งขึ้น

ไฟที่ทำให้เกิดแสงบนเวที
                ดวงไฟที่ทำให้เกิดแสงที่นิยมนำมาใช้ในการแสดงมีหลายลักษณะ จุดประสงค์ของการใช้ดวงไฟที่แตกต่างกันไปเพื่อต้องการให้ภาพบนเวทีมีความกลมกลืนกันมากที่สุด และออกมาได้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของงาน ฉาก แสง สี ให้มากที่สุด จึงมีการนำเอาดวงไฟที่มีลักษณะ และการให้แสงหลายรูปแบบ ดังนี้

ไฟรางหน้าเวที (Foot light)  เป็นไฟแสงหน้าเวที ใช้สาดเข้ามาในเวที มีกระบังกันไฟไม่ให้แสงสาดเข้าตาผู้ชม และช่วยให้ภาพบนเวทีมีความชัดเจนขึ้น ไฟประเภทนี้จะวางอยู่ด้านหน้าเวที



ไฟราว (Border light) เป็นไฟราวแขวนเหนือเวที ยึดไว้ด้วยลวดสลิง มี ๔-๕ ราว เป็นชนิดเดียวกับไฟรางหน้าเวที มี ๔ สี ใช้เปิด-ปิด หรี่แสง  หรือเปิดสว่างให้แสงสาดลงเวที




ไฟฉาย (Flood light)  เป็นไฟที่ใช้ให้แสงด้านหลังฉาก มี ๔ สี สามารถเปิด ปิด หรี่ สว่าง ได้ตามต้องการ ใช้ประกอบบรรยากาศของฉาก และลบเงาตัวละครที่ทอดมายังหลังฉากไม่ให้ปรากฏบนฉาก







ไฟประกอบฉาก (Props light)  เป็นไฟที่มีการกำหนดจุดสีไว้แต่ละดวงเพื่อตกแต่งฉากและอุปกรณ์ประกอบฉากในเกิดความสวยงาม มีความสมดุลและกลมกลืนกัน









ไฟสปอตไลท์ (Spot light)  เป็นไฟส่องสว่าง ให้แสงเป็นลำแผ่กระจาย มีกำลังตามจำนวนวัตต์ ๒๐๐  ๓๐๐ หรืออาจถึง ๕๐๐ วัตต์









ไฟอาร์ค (Arc light) มีกำลังไฟสูง ใช้ระบบถ่านคาร์บอน ๒ แท่ง ใช้ฉายจับตัวละครเช่นเดียวกับไฟสปอตไลท์








ไฟอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics light) เป็นหลอดแบบไฟนีออน หรือหลอดแบบแสงจันทร์ มีแสงสีม่วง เมื่อกระทบกับสีขาว หรือสีสะท้อนแสงจะทำให้สีนั้นเรืองแสง ใช้กับฉากพิสดารที่ใช้สีสะท้อนแสง




ไฟนีออน (Neon light) ให้แสงสีขาว หรือสีต่าง ๆ ตามต้องการในงานละครนิยมใช้ กำลังขนาด ๒๐ วัตต์ และ ๔๐ วัตต์









 อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับไฟและการควบคุมไฟบนเวที

                ในการควบคุมแสงบนเวทีสิ่งที่ขาดไม่ได้คือวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ควบคุมแสงไฟบนเวที อุปกรณ์เหล่านี้ได้แก่

สายไฟ และปลั๊กไฟ (Wire and Plug) ใช้สำหรับต่อจากแผงสวิตช์ไปยังจุดต่างๆ มีปลั๊กติดอยู่ปลายสายอีกด้านเพื่อสามารถเสียบไฟได้หลายดวง





 แผงสวิตช์ (Switch board)  เป็นแผงควบคุมไฟฟ้าทุกดวงบนเวที มีสวิตช์ไฟทำหน้าที่เฉพาะดวงบนแผง






เครื่องบังคับแสง (Dimmer)  เป็นเครื่องมือสำหรับลดหรือเพิ่มกำลังไฟฟ้า ใช้หรี่แสงหรือเพิ่มแสงเพื่อให้แสงไฟบนเวทีเหมาะกับเหตุการณ์และบรรยากาศตามเรื่องราว






เครื่องฉายภาพหลังฉาก (Linebacker projector) ใช้เป็นเครื่องฉายภาพประกอบฉากหลังที่เป็นภาพสไลด์ เป็นเครื่องมือเทคนิคสมัยใหม่ที่นำมาใช้ประกอบฉากทำให้ภาพและบรรยากาศดูสมจริงมากขึ้น




สี (Colour)

                สีเป็นสิ่งที่อยู่ในตัววัตถุที่เราสามารถมองเห็นได้ จัดเป็นปรากฏการณ์ของแสงที่ส่องกระทบวัตถุแล้วสะท้องเข้าสู่สายตามนุษย์  สีมีทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ และสีสังเคราะห์  สีมีอิทธิพลในชีวิตประจำวันของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ และให้ความรู้สึกทางจิตวิทยา สามารถกล่อมเกลาจิตใจมนุษย์ให้อ่อนไหวตามได้  จึงมีการนำเอาสีมาประกอบการจัดการแสดง โดยใช้ร่วมกับการจัดฉาก

ประโยชน์ของการออกแบบสีในการแสดง

        ๑.  ช่วยเสริมบรรยากาศในฉากให้สมจริง

๒.    สีที่มีความสัมพันธ์กับแสง หากไม่ตัดกับสีฉากจนเกินความเป็นจริงหรือหลอกตาเกินไปจะช่วยให้ฉากมีความสวยงามและโดดเด่นขึ้น

๓.     ช่วยเสริมรสนิยมและฐานะตัวละคร โดยนำเอาสีมาใช้กับเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ตัวละครที่มีฐานะนิยมใช้สีสดใส หากตังละครที่ยากจนนิยมใช้สีทึบหม่นหมอง เช่น เทา ดำ น้ำตาล ฯลฯ

ตัวอย่างอิทธิพลของสีที่มีต่อมนุษย์
                   สีฟ้า ให้ความรู้สึกสงบ เยือกเย็น เป็นระเบียบ บริสุทธิ์
                   สีส้ม ให้ความรู้สึกร่าเริง มีชีวิตชีวา สนุกสนานปราศจากทุกข์
                   สีแดง ให้ความรู้สึกรุนแรง ก้าวร้าว ดุดัน อันตราย ตื่นเต้น โรแมนติก
                   สีเหลือง ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย สว่างไสว ร่าเริง
                   สีชมพู ให้ความรู้สึก อ่อนไหว ความรัก ความนุ่มนวล สุภาพ อ่อนโยน
                   สีน้ำเงิน ให้ความรู้สึกมั่นคง สม่ำเสมอ แข็งแรง
                   สีเขียว ให้ความรู้สึกสดชื่น เจริญเติบโต ผ่อนคลาย เป็นธรรมชาติ
                   สีม่วง ให้ความรู้สึกเป็นทุกข์ ลึกลับ หนักแน่น
                   สีเทา ให้ความรู้สึก น่ากลัว เคร่งขรึม หนัก
                   สีน้ำตาล ให้ความรู้สึก เรียบ ธรรมดา แห้งแล้ง เป็นมิตร ซื่อสัตย์ ไว้วางใจ น่ารำคาญ
                   สีดำ ให้ความรู้สึกทุกข์ โศกเศร้า เหงา
  
ตัวอย่างการออกแบบแสงสีในการสร้างบรรยากาศฉาก
                   แสงสีเหลืองอ่อน แสดงถึงบรรยากาศเวลารุ่งอรุณ ใช้ไฟสีเหลือง ๗๕% แสงสีขาว ๒๕%
                   แสงสีเหลือง แสดงบรรยากาศเวลาเช้า ใช้แสงสีเหลือง ๑๐๐%
                   แสงสีส้มอ่อน แสดงบรรยากาศเวลาสาย ใช้แสงสีเหลือง ๕๐% แสงสีแดง ๒๕% แสงสีขาว ๒๕%
                   แสงสีขาว แสดงบรรยากาศเวลากลางวัน ใช้แสงสีขาว ๑๐๐%
                   แสงสีชมพู แสดงบรรยากาศเวลาบ่าย ใช้แสงสีขาว ๒๕% แสงสีแดง ๗๕%
                   แสงสีม่วงแดง แสดงบรรยากาศเวลาเย็น ใช้แสงสีแดง ๗๕% แสงสีน้ำเงิน ๒๕%
                   แสงสีม่วงน้ำเงิน แสงดบรรยากาศเวลาค่ำ ใช้แสงสีแดง ๒๕% แสงสี  น้ำเงิน ๗๕%
                   แสงสีน้ำเงิน แสดงบรรยากาศเวลากลางคืน ใช้แสงสีน้ำเงิน ๑๐๐%
                   แสงสีเขียว แสดงบรรยากาศเวลากลางคืนเดือนหงาย ใช้แสงสีน้ำเงิน ๕๐% แสงสีเหลือง ๕๐%

การใช้แสงสีในการปรับอารมณ์ตัวละครบนเวที
                   แสงสีแดง ประกอบฉากสงคราม อารมณ์โกรธ
                   แสงสีส้ม ประกอบอารมณ์ตื่นเต้นเร้าใจ
                   แสงสีน้ำเงิน ประกอบอารมณ์เศร้าและความตาย
                   แสงสีเขียว ประกอบอารมณ์รัก

หลักการออกแบบสีประกอบการแสดง
                ในการใช้สีประกอบการแสดงไม่ว่าจะนำมาใช้กับการจัดฉาก เทคนิคแสง หรือการออกแบบเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ การใช้สีกลมกลืนกัน สีและน้ำหนักสีจะใกล้เคียงกันหรือคล้ายกันควรให้มีน้ำหนักอ่อนแก่หลายลำดับ ซึ่งนิยมใช้สีเอกรงค์ (สีเดียว) หรืออาจใช้สีใกล้เคียงกัน ๒-๓ สีในวงสี เช่น สีแดง สีส้มแดง สีม่วงแดง นิยมใช้สีที่อยู่ใกล้เคียงกันในวงสีไม่เกิน ๕ สี หรืออาจใช้สีวรรณะร้อน และวรรณะเย็นก็ได้
        การใช้สีตัดกัน นิยมใช้สีที่ตัดกันในวงจรสี ๖ คู่สี คือ
                  เหลือง ตรงกันข้าม ม่วง            ส้ม ตรงกันข้าม น้ำเงิน
                 แดง ตรงกันข้าม เขียว               เหลืองส้ม ตรงกันข้าม ม่วงน้ำเงิน
                 ส้มแดง ตรงกันข้าม น้ำเงินเขียว  ม่วงแดง ตรงกันข้าม เหลืองเขียว

เสียง (Sound)

                เสียงช่วยให้ละครมีความสมบูรณ์มากขึ้น ทำให้การแสดงมีความราบรื่นสมจริง เสียงต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในการแสดง ได้แก่ เสียงลม เสียงคลื่น เสียงฝน เสียงสัตว์ต่าง ๆ ฯลฯ

                ลักษณะของเสียงในการแสดง

                   เสียงธรรมดา เสียงประเภทนี้มีคลื่นเสียงที่เป็นระเบียบจึงฟังรื่นหูนำมาใช้ประกอบอารมณ์
 ความรู้สึกที่ทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย คล้อยตาม  เช่น เสียงดนตรี เสียงนกร้อง เสียงไก่ขัน ฯลฯ

               เสียงรบกวน เป็นเสียงที่ทำให้เกิดความรำคาญ ตื่นตระหนก เร้าอารมณ์ สับสน  เช่น เสียงของตกกระทบพื้น เสียงปืน ฯลฯ เสียงประเภทนี้มีลักษณะเป็นเสียงที่ทำให้อากาศสั่นสะเทือนไม่เป็นระเบียบ จึงมีผลทำให้ผู้ชมสะดุ้งตกใจ จึงนำมาใช้ประกอบเหตุการณ์ที่ต้องเร้าอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชม เช่น ฉากต่อสู้ ฉากระทึกขวัญ เป็นต้น

                หลักการใช้ไมโครโฟน

                ไมโครโฟนเป็นอุปกรณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับเสียง จึงเป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ในการแสดง การเตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจในเรื่องของการใช้ไมโครโฟน จึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญยิ่งสำหรับการจัดการแสดง เพื่อให้การแสดงไม่มีข้อผิดพลาด หรือผิดพลาดน้อยที่ในเรื่องของการใช้ไมโครโฟน จึงควรปฏิบัติ ดังนี้
          ควรมีจำนวนไมโครโฟนที่เพียงพอสำหรับใช้ทั้งบนเวที และหลังโรงละคร จะได้ไม่เกิดปัญหาเคลื่อนย้ายในระหว่างที่กำลังดำเนินการแสดงอยู่
         การใช้ไมโครโฟนที่อยู่หลังเวทีเมื่อใช้เสร็จแล้วควรปิดทุกครั้ง เพราะอาจทำให้มีเสียงที่ไม่ต้องการเล็ดลอดออกไปด้านหน้าเวทีได้
         ควรวางไมโครโฟนให้กระจายทั่วเวทีทุกจุด เพื่อให้เสียงของผู้แสดงได้ยินโดยทั่ว และชัดเจน
         การวางไมโครโฟนต้องไม่ให้เป็นจุดสนใจของคนดู ทำให้ภาพบนเวทีขาดความสมริงได้
         การวางไมโครโฟนไม่ควรวางบนพื้นหรือบนโต๊ะที่มีการสั่นสะเทือนได้ง่ายจะทำให้เกิดเสียงที่ไม่ต้องการดังออกไป
         ไม่ควรเสียบไมโครโฟนไว้ที่ขาวางไมโครโฟนด้านหน้าเวที หรือหน้าม่านเพราะไม่ใช้การอภิปราย
          เพื่อความสะดวกอาจใช้ไมโครโฟนขนาดเล็ก ประเภทแขวน หรือเสียบติดกับเครื่องแต่งกายผู้แสดง เพื่อให้เกิดความสะดวกต่อการเคลื่อนไหวของผู้แสดง และความชัดเจนของเสียงผู้แสดง

ปัญหาที่อาจเกิดจากการใช้เสียง
          ควรมีการลองเสียงไมโครโฟนทุกครั้งทุกรอบของการแสดงก่อนใช้งานเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเสียงงขัดข้อง
          ควรมีการฝึกซ้อมการควบคุมเสียง เร่งเสียง ลดเสียง หรือการทำเสียงประกอบ เพื่อไม่ให้เกิดการผิดพลาดในระหว่างการแสดง
          ผู้แสดงควรออกเสียงให้ชัดเจน ถูกต้อง หากมีบทเจรจาควรให้ระดับเสียงเท่ากัน สม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดความชัดเจนของเสียงที่ผ่านไมโครโฟน

เครื่องประกอบฉากการแสดง และเวที  (Property)

              เป็นชิ้นส่วน หรือวัตถุที่มีความสำคัญต่อการเคลื่อนไหว และการแสดงของผู้แสดง

 ภายในฉากแต่ละฉาก ที่เป็นสิ่งประดับตกแต่งฉาก หรืออาจเป็นเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่นักแสดงถือในระหว่างการแสดง นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า prop(s) สามารถแบ่งออกเป็น


เครื่องประกอบฉาก (set property /construction  props/stage props /furniture)   

เป็นเครื่องประกอบที่ใช้ประกอบฉากการแสดงและเวทีขนาดใหญ่ให้สมบูรณ์ เช่น โต๊ะชุดรับแขก
 หรือเครื่องเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ  จึงไม่นิยมเคลื่อนย้ายเพราะไม่สะดวก ขณะเดียวกันผู้แสดงสามารถใช้ประกอบการแสดงบทบาทได้

ส่วนประกอบฉาก (set pieces)

เป็นสิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของฉากที่ตั้งได้บนเวทีอย่างอิสระ อาจตั้งอยู่ด้านหน้า หรือกลางเวที หรือช่วยให้เกิดความลึกบนเวที เช่น แผงกำแพงกั้นด้านหน้าเตี้ยๆ  พุ่มไม้ ขอนไม้ หน้าต่าง ประตู เตาผิง  ผู้ชมจึงสามารถมองเห็นได้ชัดเจน

เครื่องประกอบการแสดง (hand property)

                เป็นวัตถุสิ่งของที่เคลื่อนที่ได้ที่นักแสดงนำพาไปเพื่อประกอบบทบาทการเคลื่อนไหวของตนเองได้ จึงมีความหมายและสัมพันธ์กับการแสดงของผู้แสดง ได้แก่ บุหรี่ กล่องบุหรี่ ปากกา ดินสอ ม้านั่ง   โป๊ะไฟ ฯลฯ อาจเกี่ยวข้องกับเสื้อผ้าผู้แสดง เช่น  ลูกธนู หมวก ฯลฯ

ส่วนประกอบตัวละคร (personal props)

                เป็นสิ่งที่เป็นอุปกรณ์ติดตัวผู้แสดงตลอดเวลาในขณะกำลังแสดงบทบาทจะเกี่ยวข้องโดยกับตัวละครโดยตรง เพราะสามารถบอกบุคลิกลักษณะตัวละครได้ เช่น   ไม้เท้า กล้องยาสูบ แว่นสายตา ฯลฯ

ส่วนประดับฉาก (dressing/dress props)

เป็นส่วนที่ใช้ประดับบนฉาก เพื่อช่วยเสริมลักษณะของฉากนั้นให้สมบูรณ์เป็นจริง เช่น นาฬิกาติดผนัง ปฏิทิน โคมประดับฝา ฯลฯ

เครื่องประดับเสื้อผ้าตัวละคร (costume props)

                เป็นเครื่องประดับเสื้อผ้าตัวละคร จะบอกให้รู้ถึงฐานะของตัวละครได้ เช่น เครื่องเพชร กำไลข้อมือ ตุ้มหู  นาฬิกาข้อมือ ฯลฯ

โป๊ะไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้า (light fitting)

                เป็นอุปกรณ์ประเภทเครื่อไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น โป๊ะไฟ หรือโคมไฟที่ติดในฉาก หากเป็นฉากภายนอกได้แก่โคมไฟข้างถนน เป็นต้น

เทคนิคพิเศษต่าง ๆ ที่ใช้ในการแสดง (special effects)

                เป็นเทคนิคต่าง ๆ  ในการแสดงเพื่อประกอบฉาก และเหตุการณ์ให้ดูสมจริง เช่น ปรากฏการณ์ทางเสียง แสง ภาพ เป็นสิ่งที่แสดงสถานการณ์พิเศษต่าง ๆ ในเรื่อง และเหตุการณ์ เพื่อเสริมบรรยากาศละครให้สมจริง  หรือได้อารมณ์ตามบรรยากาศ เช่น หมอก ควัน หิมะ ฟ้าแลบ น้ำตก เสียงเดิน เสียงหมาหอน เสียงกระแทกประตู เสียงลากเกี๊ยะ ฯลฯ

กิจกรรมนาฏศิลป์ ๒




การชมศิลปะการแสดง

                ศิลปะการแสดงเป็นเครื่องบันเทิงที่มนุษย์เป็นผู้สร้างสรรค์เพื่อมุ่งในแง่ความสนุกสนานผ่อนคลาย ขณะเดียวกันก็ให้คุณค่าสาระต่าง ๆ ที่เป็นแง่คิดให้กับผู้ชม ขณะเดียวกันขณะชมการแสดง ผู้ชมควรมีมารยาทในการชมการแสดงเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ผู้แสดง  จึงควรปฏิบัติให้ถูกต้อง ดังนี้

                เข้าใจรูปแบบการนำเสนอของการแสดงที่ชม ในการชมการแสดงควรมีความรู้เกี่ยวกับการแสดงที่ชมว่าเป็นการแสดงประเภทใด เช่น ละครเวที ละครเพลง โขน ละครรำ เพราะรูปแบบหรือขนบของการแสดงแต่ละประเภทอาจแตกต่างกัน รวมทั้งวิธีการดำเนินการแสดง การนำเอาการขับร้อง ดนตรี มาประกอบการแสดง รวมทั้งการออกแบบเครื่องแต่งกาย ผม การแต่งหน้า ตลอดจนองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบการแสดง หากผู้ชมมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว จะทำให้ชมการแสดงได้สนุกสนาน และได้คุณค่าสาระจากการชมการแสดงได้เต็มที่


                ควรแต่งกายให้สุภาพ มารยาทในการแต่งกายเป็นสิ่งสำคัญ การไปชมการแสดงผู้ชมต้องคำนึงถึงสถานที่จัดการแสดงและแต่งกายให้เหมาะสมกับสถานที่ เป็นการให้เกียรติแก่สถานที่ และผู้จัดการแสดงโดยทั่วไปนิยมแต่งแบบสากลนิยมสำหรับสถานที่ที่เป็นหอประชุมขนากใหญ่ โรงละคร โรงละครแห่งชาติ หากเป็นสถานที่สาธารณะ เช่น สวนสนุก สวนสาธารณะ ควรแต่งกายตามสบาย และสุภาพ จึงจะเหมาะสม

                ไปถึงสถานที่แสดงก่อนการแสดงเริ่ม การไปถึงสถานที่จัดการแสดงก่อนการแสดงเริ่มจะทำให้ได้ชมการแสดงตั้งแต่เริ่มแรก และไม่เป็นการรบกวนผู้ที่นั่งชมการแสดงอยู่ก่อน หากไปถึงช้าการแสดงเริ่มก่อนทำให้ไม่สะดวกต่อการเข้าชมการแสดง และเป็นการรบกวนสมาธิการชมการแสดงของผู้ที่นั่งชมอยู่ก่อน ถือเป็นมารยาทที่ไม่พึงปฏิบัติ

                ศึกษาเอกสารแผ่นพับ สูจิบัตร การศึกษาเอกสาร หรือสูจิบัตรการแสดงทำให้เข้าใจเนื้อหาเรื่องราวที่แสดง เข้าใจรูปแบบการแสดง เข้าใจวัตถุประสงค์การแสดง รู้จักผู้สร้างสรรค์ผลงาน และผู้แสดง ในกรณีที่ไม่มีสูจิบัตรการแสดงสามารถฟังจากพิธีกรผู้ประกาศ หรือการกล่าวเปิดงานของผู้จัดการแสดงได้ ก่อนการแสดงเริ่ม

                ไม่นำอาหารหรือเครื่องดื่มเข้าไปในโรงละคร เป็นมารยาทที่ไม่พึงปฏิบัติเพราะทำให้เกิดความรำคาญแก่ผู้ชมคนอื่นที่นั่งใกล้เคียง และยังทำให้เกิดความสกปรก ตลอดจนเกิดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์

                งดใช้เครื่องมือสื่อสารต่าง ๆ ก่อนการแสดงเริ่มควรปิดเสียงเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด เพราะเสียงเป็นการรบกวนสมาธิของผู้ชมและนักแสดงระหว่างที่การแสดงยังดำเนินอยู่

                ไม่ควรพูดคุยเสียงดัง ไม่ควรพูดคุย หรือวิพากษ์วิจารณ์การแสดง หรือวิจารณ์ผู้แสดงในระหว่างที่การแสดงกำลังดำเนินการแสดงอยู่ และในระหว่างเดินออกมาจากโรงละคร เป็นกิริยาที่ไม่เหมาะสม นอกจากทำความรำคาญให้แก่ผู้ชมคนอื่น ยังถือว่าเป็นกิริยาที่ไม่ให้เกียรติผู้แสดง หากต้องการวิพากษ์วิจารณ์ควรหาสถานที่ที่เหมาะสำหรับการนั่งเสวนาหรือวิจารณ์

                ควรปรบมือให้การแสดง เมื่อการแสดงเป็นที่พอใจ หรือในการจบการแสดง การเปลี่ยนฉากการแสดง ควรปรบมือทุกครั้งเป็นการให้เกียรติ และสร้างขวัญกำลังแก่ผู้แสดง ไม่ควรใช้เสียงเป่าปาก เสียงโห่ เสียงกรีดร้อง เป็นกิริยาที่ไม่พึงปฏิบัติ เป็นการไม่ให้เกียรติผู้แสดง

การวิเคราะห์วิจารณ์การแสดง

                การแสดงทุกประเภทต่างมีจุดประสงค์เพื่อให้สาระความบันเทิงแก่ผู้ชมจึงมีการสร้างสรรค์พัฒนาตลอดเวลาไม่ว่าด้านเนื้อหาสาระ วิธีการนำเสนอ
                อย่างไรก็ตามสิ่งที่การแสดงนำเสนอออกมาก็ขึ้นอยู่กับผู้ชมว่ามีความเข้าใจในแก่นสาระที่การแสดงนำเสนอให้เห็นมากน้อยอย่างไร มองเห็นคุณค่าประโยชน์และนำมาเป็นแง่คิดต่อตนเองและสังคม ได้มาก หรือน้อยอย่างไร

วิเคราะห์
                หมายถึง การแยกออกเป็นส่วนๆเพื่อทำการศึกษาให้ถ่องแท้ เช่น วิเคราะห์เรื่องราว วิเคราะห์ปัญหา วิเคราะห์ข่าว การแยกออกเป็นส่วนๆเพื่อศึกษาจะทำให้มองเห็นว่าสิ่งที่ศึกษานั้นมีลักษณะที่แท้จริงเป็นอย่างไร เกิดจากสาเหตุใด และจะดำเนินต่อไปในลักษณะใด จะเกิดผลอย่างใด การวิเคราะห์จึงมีความหมายรวมถึงการใคร่ครวญพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งด้วยเหตุผลตามความเป็นจริง เช่น วิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจโลก วิเคราะห์เหตุการณ์บ้านเมือง วิเคราะห์สถานการณ์สงคราม เป็นต้น

วิจารณ์
                หมายถึง การพิจารณาเทคนิคหรือกลวิธีที่แสดงออกมานั้น ให้เห็นว่าน่าคิด น่าสนใจ น่าติดตาม มีชั้นเชิงยอกย้อนหรือตรงไปตรงมา องค์ประกอบใดมีคุณค่าน่าชมเชย องค์ประกอบใดน่าท้วงติงหรือบกพร่องอย่างไร  การวิจารณ์ สิ่งใดจึงต้องใช้ความรู้ มีเหตุมีผล มีหลักเกณฑ์ มีความรอบคอบ  ตามปกติเมื่อจะวิจารณ์สิ่งใด ควรผ่านขั้นตอนและกระบวนการของการวิเคราะห์สาร  วินิจสาร และประเมินค่าสาร ให้ชัดเจนเสียก่อนแล้ว จึงวิจารณ์แสดงความเห็นออกมาอย่างมีเหตุมีผลให้น่าคิด น่าฟังและเป็นคำวิจารณ์ที่เชื่อถือได้

คุณสมบัติของนักวิจารณ์
๑.      ควรมีความรู้เกี่ยวกับศิลปะทั้งศิลปะประจำชาติและศิลปะสากล เพื่อสามารถนำเอาความรู้มาเป็นพื้นฐานในการวิจารณ์ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
๒.    ควรมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะสาขาต่าง ๆ เพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจในงานศิลปะแต่ละสาขาได้ถูกต้อง
๓.     ควรมีความรู้เกี่ยวกับสุนทรียศาสตร์ เพื่อเป็นพื้นฐานช่วยให้สามารถเข้าใจและรู้ทุกแง่มุมของศาสตร์ทางด้านความงามโดยเฉพาะงานศิลปะแต่ละสาขา
๔.     ควรเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างขวางมีความคิดเห็นเป็นของตนเองไม่คล้อยตามคนอื่น
๕.     กล้าที่จะแสดงออกในงานวิจารณ์ทั้งที่เป็นไปตามหลักวิชาการรวมทั้งตามความรู้สึกและประสบการณ์ของงตนเอง
๖.   
    
การวิเคราะห์และการประเมินคุณค่างานศิลปะ

                โดยทั่วไปการชมการแสดงเพื่อการวิจารณ์จะนิยมวิจารณ์ และพิจารณา 2 ด้าน  ได้แก่

. ด้านความงาม
                เป็นการวิเคราะห์และประเมินคุณค่าในด้านทักษะฝีมือ การใช้ทัศนะธาตุทางศิลปะ และการจัดองค์ประกอบศิลป์ว่าผลงานชิ้นนี้แสดงออกทางความงามของศิลปะได้อย่างเหมาะสมสวยงามและส่งผลต่อผู้ดูให้เกิดความชื่นชมในสุนทรียภาพเพียงใด ลักษณะการแสดงออกทางความงามของศิลปะจะมีหลากหลายแตกต่างกันออกไปตามรูปแบบของยุคสมัย ผู้วิเคราะห์และประเมินคุณค่าจึงต้องศึกษาให้เกิดความรู้ ความเข้าใจด้วย

. ด้านสาระ
                เป็นการวิเคราะห์และประเมินคุณค่าของผลงานศิลปะแต่ละชิ้นว่ามีลักษณะส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ตลอดจนจุดประสงค์ต่างๆ ทางจิตวิทยาว่าให้สาระอะไรกับผู้ชมบ้าง ซึ่งอาจเป็นสาระเกี่ยวกับธรรมชาติ สังคม ศาสนา การเมือง ปัญญา ความคิด จินตนาการ และความฝัน

โครงสร้างของการเขียนบทวิจารณ์

                ชื่อเรื่อง (Tittle)  ควรตั้งชื่อเรื่องที่เรียกร้องความสนใจของผู้อ่านและสื่อความหมายได้ชัดเจน  เช่น ตั้งชื่อตามชื่อหนังสือที่ต้องการวิจารณ์ ตั้งชื่อตามจุดมุ่งหมายของเรื่อง ตั้งชื่อด้วยการให้ประเด็นชวนคิด ชวนสงสัย เป็นต้น
                ความนำหรือประเด็นที่จะวิจารณ์ (Lead or Issue)  หรือบทนำ  เป็นการเขียนนำเกี่ยวกับเรื่องที่จะวิจารณ์ เช่น ถ้าเป็นการวิจารณ์วรรณคดี  ต้องบอก ชื่อวรรณคดี ผู้แต่ง ประเภท  ความเป็นมาของเรื่อง และอาจเขียนอธิบายและจูงใจที่ทำให้ผู้วิจารณ์สนใจวรรณคดีเรื่องนี้
                เนื้อเรื่อง (Body)  เป็นส่วนแสดงความคิดเห็นและรายละเอียดในการวิจารณ์ โดยนำเสนอจุดเด่น และจุดบกพร่องอย่างมี หลักเกณฑ์และเหตุผล หากต้องการเล่าเรื่องย่อที่นำมาวิจารณ์ ควรเขียนเล่าเรื่องอย่างสั้นๆ เพราะ การวิจารณ์ไม่ใช่การสรุปเรื่อง แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นของ  ผู้วิจารณ์ที่มีต่อเรื่องนั้น ผู้เขียนต้องการ สื่อความหมายอะไรมายังผู้อ่าน และสื่อชัดเจนหรือไม่ อย่างไร ถ้าประเด็นการวิจารณ์มีหลายประเด็น ควรนำเสนอตามลำดับ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายไม่สับสน ในกรณีที่เรื่องนั้นมีจุดเด่นและจุดด้อย ควรเขียนถึงจุดเด่นก่อน แล้วกล่าวถึงจุดด้อย เพื่อให้เกียรติผู้เขียน และแสดงให้เห็นว่า  การวิจารณ์ คือการสร้างสรรค์ไม่ใช่การทำลาย
                บทสรุป (Conclusion) เป็นย่อหน้าสุดท้ายของบทวิจารณ์ เป็นการเขียนสรุปความคิดทั้งหมดที่วิจารณ์และให้แง่คิด หรือข้อสังเกต ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน นอกจากนี้บทสรุปยังช่วยให้ผู้อ่านได้ทบทวนประเด็นสำคัญของเรื่องและความคิดสำคัญของผู้วิจารณ์ แม้ว่าผู้อ่านอาจจะไม่ได้อ่านบทวิจารณ์ทั้งบท แต่ได้อ่านบทสรุปก็สามารถทราบเรื่อง ของวรรณคดีหรือวรรณกรรมที่นำมาวิจารณ์ รวมทั้งความคิดเห็นของ ผู้วิจารณ์ที่มีต่อวรรณคดีหรือวรรณกรรมเรื่องนั้นได้
       ตัวอย่างบทวิจารณ์ศิลปะการแสดง

บทวิจารณ์หนังออสการ์ 127 Hours - 5 วันเฉียดตาย             กับความหมายของการมีชีวิต

             หลังประกาศศักดาด้วยการคว้าออสการ์จาก Slumdog Millionaire เมื่อปี 2009 แถมหนังยังทำเงินทั่วโลกไปกว่า $377 ล้านดอลล่าร์ (โดยใช้ทุนสร้างไปเพียง $15 ล้านดอลล่าร์) ความจริงแล้ว ถ้าหาก แดนนี่ บอยล์ อยากจะทำหนังเรื่องถัดไปด้วยทุนสร้างสักร้อยล้านเหรียญล่ะก็ สตูดิโอยักษ์ใหญ่ทั้งหลายคงแห่กันมาแย่งเซ็นเช็คให้กันเป็นทิวแถวแน่ๆ!
          แต่ผู้กำกับสัญชาติอังกฤษคนนี้ ก็ไม่ได้หลงระเริงไปกับ ชื่อเสียง ลาภยศ ที่ได้มาเหล่านั้น บอยล์ ยังซื่อสัตย์กับตัวเอง เพราะรู้ดีว่า ผู้กำกับอย่างเขานั้น ถนัดทำหนังทุนต่ำ ที่มีสเกลไม่ใหญ่ มากกว่า (The Beach ที่แสดงนำโดย ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ้ ซึ่งใช้งบไป $50 ล้านดอลล่าร์ คือหนังที่ใช้ทุนสร้างมากที่สุดแล้วของ แดนนี่ บอยล์และนั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ บอยล์ กลับมาพร้อมกับ หนังทุนต่ำ คุณภาพสูง อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งนักวิจารณ์ทุกสำนักทั่วโลกการันตีว่า ยอดเยี่ยม ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดถึงหนังเรื่อง 127 Hours
          127 Hours เล่าเรื่องของ แอรอน รอลสตัน วิศวกรหนุ่มผู้รักการผจญภัยเป็นชีวิตจิตใจ แต่วันหนึ่งเกิดดวงแตกสุดขีด เมื่อเขาเดินทางแบบฉายเดี่ยวไปปีนหุบเขาที่มีชื่อว่า บลู จอห์น และเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็ขึ้น เมื่อเขาพลัดร่วงลงมาไปซอกเขาพร้อมกับก้อนหินขนาดใหญ่ ซึ่งหล่นมาทับแขนขวาของเขา ทำให้ต้องติดแหง็กอยู่ในนั้นคนเดียวกว่า 5 วัน (ซึ่งก็คือ 127 ชั่วโมง ตามชื่อเรื่อง) จนสุดท้ายเขาต้องตัดสินใจตัดแขนตัวเองทิ้งด้วยเครื่องมือที่พอจะหาได้ในเป้ เท่านั้นยังไม่พอ อารอน ยังต้องตะเกียกตะกายปีนขึ้นจากซอกเขามรณะที่ว่าด้วยแขนข้างเดียว แถมยังต้องเดินเท้าอีกถึง 8 ไมล์ ก่อนจะได้รับความช่วยเหลือในท้ายที่สุด
                  รู้เรื่องย่อกันแบบคร่าวๆ แล้ว หลายคนอาจจะคิดว่า ก็ไม่เห็นจะมีอะไรพิเศษตรงไหน? เพราะ 127 Hours ก็คงเป็น หนังเฉียดตาย ซึ่งสร้างจากเรื่องจริง ที่คนดูจะเห็นว่า เขาไปติดแหง็กอยู่ในซอกเขาได้ยังไง? แล้วรอดออกมาได้ยังไง? ซึ่งใช่ครับ หนังเล่าถึงรายละเอียดในส่วนนั้น แต่นั่นเป็นเพียงแค่น้ำจิ้ม ไม่ใช่เนื้อหาสาระ หรือ แก่น ของเรื่องที่หนังต้องการจะบอก เพราะแท้ที่จริงแล้ว แก่น ของเรื่องที่หนังต้องการจะบอกกับคนดูก็คือ...มนุษย์ จะมีความสมบูรณ์ และเข้าใจความหมายของชีวิตมากกว่าเดิม หลังจากก้าวพ้นวิกฤตอะไรบางอย่างมาได้ 
          อย่างน้อยๆ หลังผ่านเหตุการณ์เฉียดตายครั้งนี้มา แอรอน จะทิ้งข้อความบอกไว้ทุกครั้งว่าเขาไปไหน ซึ่งก่อนหน้านี้เขาไม่เคยบอกใครเลย...จะว่าไป แอรอน รอลสตัน ใน 127 Hours มีส่วนคล้ายกับ ชัค โนแลนด์ (ที่แสดงโดย ทอม แฮงค์ส) ในหนังเรื่อง Cast Away อยู่เหมือนกัน เพียงเปลี่ยนจากติดอยู่ในซอกแคบๆ ของหุบเขา มาเป็นติดเกาะ ซึ่งถ้าเทียบกันแล้ว สำหรับผม ติดเกาะ ดูจะสบายกว่าเป็นไหนๆ เพราะในขณะที่ แอรอน ถูกหินทับมือ เคลื่อนไหวไม่ได้ น้ำกับอาหาร ก็หร่อยหรอลงเรื่อยๆ (จนสุดท้ายต้องดื่มฉี่ตัวเองแทนน้ำ!) แถมวันๆ ได้แต่คุยกับตัวเองผ่านกล้องวีดีโอ แต่ ชัค ยังสามารถเดินเล่นทั่วเกาะ มีอาหารทะเลให้กิน แถมยังมี วิลสัน (ลูกวอลเล่ย์) คอยเป็นเพื่อนปรับทุกข์อีกต่างหาก
          ในขณะที่ Cast Away อาจจะทำให้คนดูคิดว่า ถ้าติดเกาะเราจะเอาชีวิตรอดยังไง? แต่ 127 Hours ดึงผู้ชมเข้าไปในสถานการณ์ที่ คับขัน บีบคั้น และ กดดัน กว่าหลายเท่า กับทางออกทางเดียวนั่นก็คือ ต้องตัดแขนตัวเองทิ้งซะ!  ซึ่งหากมองกันในภาพรวมแล้ว Cast Away อาจจะเป็นหนังที่มีสเกลใหญ่กว่า ดูสนุก และให้ความบันเทิงมากกว่า แต่ส่วนตัวแล้วกลับคิดว่า 127 Hours สามารถนำเสนอเรื่องราวออกมาได้อย่างสมจริง (ส่วนนึงอาจเป็นเพราะหนังสร้างมาจากเรื่องจริง) ดูแล้ว รู้สึกสะเทือนใจ มีอารมณ์ร่วมมากกว่าเป็นไหนๆ แต่ไม่ได้หมายความว่า Cast Away เป็นหนังไม่ดีนะครับ Cast Away เป็นหนังอีกเรื่องที่ผมเองชอบมากๆ เพียงแต่จะบอกว่า ผมรู้สึกอิน และเอาใจช่วย แอรอน ใน 127 Hours มากกว่าเท่านั้นเอง
          หนังคงจะไม่ทรงพลังขนาดนี้ หากไม่ได้การแสดงระดับสุดยอดของ เจมส์ ฟรานโก้ ผู้มารับบทเป็น แอรอน รอลสตัน เรียกว่า คนเดียวเอาคนดูอยู่หมัดตั้งแต่ต้นจนจบ แบบ วัน แมน โชว์ รวมถึงการกำกับของ แดนนี่ บอยล์ ที่สามารถเล่าเรื่องราวออกมาได้อย่าง สนุกสนาน ตื่นเต้น เร้าใจ บีบคั้น หวาดเสียว สยดสยอง โดยเฉพาะฉากที่ แอรอน ลงมือเฉือนเส้นเอ็นตัวเอง เชื่อว่าเหลือเกินว่าหลายคนคงจะถึงขนาดปิดตาไม่กล้าดูฉากนี้บวกกับมุมกล้อง เทคนิคการตัดต่อ วิธีการเล่าเรื่อง และสไตล์ภาพ (ซึ่งหลายๆ ช็อตน่าจะทำให้แฟนพันธุ์แท้ แดนนี่ บอยล์ นึกไปถึงหนังสร้างชื่อของเขาอย่าง Trainspotting) อ่อ...อีกอย่างที่จะลืมไม่ได้เลยก็คือ เพลงประกอบที่ยังคงเจ๋งสุดๆ เหมือนทุกเรื่องที่ผ่านมาด้วยวิธีการทำหนังชั้นเซียนของแดนนี่ บอยล์ ที่ว่ามาทั้งหมดข้างต้น ทำให้เรื่องราวใน 127 Hours ถูกเล่าออกมาได้อย่างไหลลื่น แม่นยำ ถูกจังหวะจะโคน เพราะอย่างที่กล่าวเอาไว้ตอนต้นแล้วว่า นอกจากจะได้ร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ 5 วันเฉียดตายของพระเอกในเรื่องแล้ว หนังยังนำเอาความคิดในหัวของแอรอน มาตัดสลับให้เห็นด้วยว่า ในช่วงที่ยากลำบากที่สุดของชีวิต เขาคิดอะไรอยู่?   ซึ่งภาพในมโนสำนึกของ แอรอน นี่แหละ เป็นสิ่งที่ยืนยันได้อีกครั้งว่า ในยามคับขัน จวนตัว โดยเฉพาะเสี้ยวหนึ่งในชีวิตที่คิดว่าจะเป็นวาระสุดท้าย สัญชาตญาณมนุษย์มักจะนึกถึง พ่อ แม่ คนที่เรารัก และหวนคิดไปถึงข้อผิดพลาดต่างๆ ที่เคยทำไว้ (อย่างพระเอกในเรื่องรู้สึกเสียใจที่ไม่ไปงานแต่งน้องสาว รู้สึกผิดที่ไม่ชอบรับโทรศัพท์เวลาที่แม่โทรมาหา นึกถึงเรื่องแย่ๆ ที่เคยทำไว้กับหญิงสาวอันเป็นที่รัก เป็นต้น)
          นอกจากนั้น เหตุการณ์เฉียดตายของ แอรอน ยังเป็นเครื่องเตือนใจให้แก่ผู้ชมทั้งหลายอีกด้วยว่า อย่าตกอยู่ในความประมาทเด็ดขาด! เพราะเพียงแค่เสี้ยววินาที ชีวิตคุณอาจพบกับความพลิกผันครั้งใหญ่ได้... แต่ถ้าเกิดว่า วันนึงคุณต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ชีวิตต้องเจอกับอภิมรสุม หรือวันมหาวิปโยค ที่หนักอึ้งแสนสาหัสขนาดไหน โปรดจงตั้งมั่น แก้ไขปัญหาเหล่านั้นอย่างมีสติ ทำสุดกำลัง เต็มความสามารถ ท้อได้ แต่อย่าถอย เพราะเชื่อเหลือเกินว่า อุปสรรค หรือ ปัญหา ที่หลายคนต้องประสบนั้น คงจะไม่ได้หนักหนาเกินไปกว่าเหตุการณ์ที่ลูกผู้ชายชื่อ แอรอน รอลสตัน ต้องฝ่าฟัน และเอาชนะมัน มาได้ด้วยความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว  และถึงแม้จะออกมาจากหุบเขา บลู จอห์น ด้วยการเสียแขนไปข้างหนึ่ง แต่สิ่งที่เขาได้กลับออกมาคือ ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่งที่น่ายกย่องมาก
                                                                                                                               โดย ทอม เฮนเซน
                                                                                                                               
 127 ชั่วโมง | เรื่องย่อ
              127 Hours เป็นเรื่องราวจริงที่ถ่ายทอดมาจากชีวิตของนักปีนเขาอัจฉริยะ Aron Ralston (James Franco) ที่สามารถช่วยชีวิตตัวเองจากการที่ เขาพลัดตกลงไปติดในร่องเขาอยู่ลำพังในหุบเขา บลู จอห์น ซึ่งอยู่ในเมืองยูทาร์ หลังจากที่เขาติดอยู่ที่ร่องเขาถึง 5 วัน Ralston ได้สำรวจสิ่งที่อยู่รอบๆตัวที่สามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์เพื่อช่วยให้รอดชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเครื่องมือจากสิ่งต่างๆรอบตัวเพื่อช่วยให้ตัวเองรอดชีวิต จน Ralston สามารถที่จะไต่ขึ้นจากร่องเขาที่ติดอยู่ที่สูงถึง 65 ฟุตและการเดินอีกกว่า 8 ไมล์ และทำให้เขารอดชีวิตมาได้ ตลอดการผจญภัยของ Aron Ralston เขาก็ได้พบเพื่อนร่วมทางมากมายทั้งครอบครัว คู่รัก และ สองนักไต่เขาสาว (Amber Tamblyn และ Kate Mara) ที่เกือบเป็นสองคนสุดท้ายที่ได้พบกับ Ralston ก่อนที่เขาจะตกลงไปติดในร่องเขา
              127 Hours จะเป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวและประสบการณ์ของการเดินทางผจญภัยที่ตื่นเต้น พร้อมทั้งสอนให้คนเราได้รู้ว่า เราสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อให้เรามีชีวิตรอด !!  
               อย่างไรก็ตาม ในการทำงานศิลปะใดๆ เมื่อทำขึ้นสำเร็จเป็นผลงานและปรากฏแก่สายตาของย์ทั่วไป ก็มักจะได้รับการกล่าวขาน ติชม ซึ่งอาจมีผลงานทั้งทางบวกและทางลบต่อผู้วิจารณ์ ดังนั้น เพื่อไม่ให้ครหาหรือติเตียนเกิดขึ้น การวิจารณ์ควรเป็นไปในแนวทางสร้างสรรค์ตัวบุคคลและสังคม ในลักษณะของการให้ข้อเสนอแนะ ส่งเสริมให้กำลังใจ สำหรับตัวผู้วิจารณ์หรือผู้ประเมินผลงานศิลปะ จำเป็นต้องมีความเข้าใจในเรื่องของสุนทรียภาพและทัศนศิลป์เฉพาะแขนงเป็นอย่างดี
                                 

1 ความคิดเห็น: