วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2557

บทที่ ๑ ศิลปะการแสดง

                ศิลปะการแสดงเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าอย่างเป็นระบบระเบียบเพื่อให้เกิดความงดงามในการเคลื่อนไหว เป็นศิลปะที่เกิดจากการสร้างความสมดุลของร่างกายในขณะเคลื่อนไหวให้มีความงาม ประณีต โดยมีจุดประสงค์ให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจในความงามของการเคลื่อนไหวนั้น
                ศิลปะการแสดงในความหมายของไทย คือ “นาฏศิลป์” เกิดจากการสมาสคำสองคำคือ นาฏะ กับ ศิลปะ

       “นาฏะ” หมายถึงการร่ายรำ หรือการเคลื่อนไหวไปมาอย่างงดงาม ประณีต ละเอียดอ่อน

        “ศิลปะ” หมายถึง
         ๑.     การแสดงออกเพื่อสนองความต้องการทางอารมณ์ของผู้สร้างงานให้ผู้ชมได้รับรู้และเข้าใจในงานที่ตนเองสร้าง
         ๒.    การถ่ายทอดความหมายต่าง ๆ ออกมาในรูปแบบงานที่สร้างสรรค์โดยผู้สร้างงานใช้จินตนาการเพื่อแสดงให้เห็นคุณค่าแห่งความงามในรูปแบบต่าง ๆ
         ๓.    การที่ศิลปินพบเห็นความงาม เกิดความประทับใจ ชื่นชม จึงเลียนแบบนำมาดัดแปลงประดิษฐ์ให้มีความละเอียดอ่อน วิจิตรบรรจง ทำให้ผูชมเกิดความซาบซึ้ง ประทับใจในชิ้นงานที่สร้างขึ้นมา
                
                 นาฏศิลป์  จึงหมายถึง  การฟ้อนรำที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นจากท่าทาง และอารมณ์ที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์มุ่งเน้นให้เกิดความประณีตงดงามลึกซึ้ง เพียบพร้อมไปด้วยความวิจิตรบรรจง  ละเอียดอ่อน  ทั้งนี้นอกจากหมายถึงศิลปะการฟ้อนรำ ระบำ รำ เต้น แล้ว ยังหมายถึงการนำเอาการขับร้องและการบรรเลงร่วมด้วย


รำคู่ฉุยฉายกิ่งไม้เงินทองเดิมใช้เป็นการแสดงเบิกโรงโขน และละครใน

 มูลเหตุการณ์เกิดนาฏศิลป์/ศิลปะการแสดง

          นาฏศิลป์ เป็นศิลปะแห่งการร่ายรำ เป็นรูปแบบของงานศิลปะสาขาหนึ่งในประเภทวิจิตรศิลป์ มูลเหตุของการเกิดงานศิลปะประเภทนี้จึงเกิดจากมูลเหตุเดียวกัน เพียงแต่การนำเสนองานศิลปะอาจมีลักษณะที่แตกต่างกันไป ทำให้เกิดงานศิลปะสาขาต่าง ๆ ขึ้น โดยเฉพาะในประเภทวิจิตรศิลป์ จัดเป็นงานศิลปะที่มุ่งเน้นประโยชน์ทางด้านจิตใจของผู้สัมผัสงานเป็นสำคัญ ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงมูลเหตุของการเกิดนาฏศิลป์หรือศิลปะการแสดงจึงสันนิษฐานว่ามีมูลเหตุที่เกิด คือ
      



         ๑. เกิดจากธรรมชาติ มนุษย์มีการเคลื่อนไหวอิริยาบถต่างๆ เช่น แขน ขา เอว ใบหน้า ฯลฯ จากการเคลื่อนไหวนี้เองที่เป็นมูลฐานแห่งการฟ้อนรำ หรือการที่มนุษย์แสดงอารมณ์ออกมาตามความรู้สึกในใจแล้วแสดงออกให้เป็นท่าทางกิริยาอาการต่าง ๆ  เช่น โกรธ รัก โศกเศร้า เสียใจ มนุษย์ได้นำมาดัดแปลงให้มีความงดงามเป็นท่าทางการร่ายรำ

   ท่ายืนของทศกัณฐ์ที่ประดิษฐ์ดัดแปลงมาจากท่ายืนธรรมชาติของมนุษย์ ให้มีความงดงามตามแบบศิลปะการแสดง       



๒. เกิดจากการบวงสรวงเทพเจ้า แต่โบราณมนุษย์ทุกชาติทุกภาษาต่างหาสิ่งยึดเหนี่ยวเพื่อเป็นที่พึ่งทางจิตใจ เทพเจ้า หรือพระผู้เป็นเจ้าจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตมนุษย์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต่างเกิดจากการสมมติเช่น ญี่ปุ่นนับถือพระอาทิตย์เป็นการบูชาความสำคัญของดวงอาทิตย์ที่ให้ความร้อน และแสงสว่าง อินเดียบูชารูปเคารพซึ่งแต่งตั้งเป็นเทพเจ้าต่าง ๆ  ไทยเชื่อถือภูตผี เทพารักษ์ เจ้าป่า เจ้าเขา รูปเคารพต่าง ๆ เป็นต้น จากกนั้นก็มีการบวงสรวงบูชาด้วยอาหาร ด้วยการร่ายรำ กระโดดโลดเต้นตามจังหวะ เกิดเป็นแบบแผนวัฒนธรรมการแสดงของแต่ละชาติจนถึงปัจจุบัน 


              



ในสมัยโบราณการเต้น หรือการฟ้อนรำเป็นสิ่งที่ขาดไมได้ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ต่อมาจึงมีการพัฒนานำมาเล่นเพื่อความผ่อนคลายสนุกสนานจากการทำงาน และมีพัฒนาการตลอดเวลาจึงทำให้กลายเป็นศิลปะการแสดงได้


  ๓. เกิดจากอารมณ์สะเทือนใจของมนุษย์  อารมณ์สะเทือนใจหมายถึงความรู้สึกชื่นชมประทับใจ  ซาบซึ้งในเรื่องราว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม  พฤติกรรมมนุษย์ในสังคม  หรือไปพบเห็นสิ่งต่างเกิดความ     ชื่นชมประทับใจ จึงนำมาสร้างสรรค์ให้เป็นการเคลื่อนไหว เรื่องราว โดยผสมผสานจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ทำให้เรื่องราว หรือการเคลื่อนไหวนั้นน่าสนใจ ประทับใจผู้ชม



ภาพยนตร์เรื่องโหมโรง เป็นภาพยนตร์ที่นำเอาเรื่องราวของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)   มาสร้างสรรค์ เป็นตัวอย่างของศิลปะการแสดงที่เกิดจากความประทับใจในเรื่องราวและผลงานทางดนตรีไทยของปรมาจารย์ทางดนตรีไทยท่านนี้

อ่านต่อศิลปะการแสดง ๒














1 ความคิดเห็น: